Whoscall ผนึกรัฐ-เอกชน เปิดฟีเจอร์ Scam Alert หลังคนไทยเสียรู้มิจฉาชีพเสียหายกว่า 78 ล้านบาทต่อวัน

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Whoscall ผนึกรัฐ-เอกชน เปิดฟีเจอร์ Scam Alert หลังคนไทยเสียรู้มิจฉาชีพเสียหายกว่า 78 ล้านบาทต่อวัน

Date Time: 17 ก.ย. 2567 17:59 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • Gogolook ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall จับมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเปิดตัวฟีเจอร์ “Scam Alert” หรือ “เตือนภัยกลโกง” ศูนย์รวมข้อมูลสำหรับป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของประเทศไทย ช่วยแจ้งเตือนภัยกลลวงและรับมือกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์ในรูปต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง

Latest


ปัญหาของการถูกหลอกจากมิจฉาชีพกลายเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงของสังคมไทย หลังพบสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างเดือนมีนาคม 2565 ถึงกรกฎาคม 2567 พบว่า ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน

ขณะเดียวกัน คนไทยยังคงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการโจมตีของมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพเหล่านี้ก็ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีมาพัฒนาวิธีการหลอกลวงให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของข่าวเท็จ เว็บปลอม หลอกลวงผ่านการโทรและข้อความ SMS ไปจนถึงการหลอกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจากผลสำรวจของ Global Anti-Scam Alliance หรือ GASA ประจำปี 2567 พบว่า มีคนไทยเพียง 55% ที่มั่นใจว่ารู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% เผยว่าต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้บริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) และผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall จับมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนเปิดตัวฟีเจอร์ “Scam Alert” หรือ “เตือนภัยกลโกง” ศูนย์รวมข้อมูลสำหรับป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของประเทศไทย โดยฟีเจอร์นี้จะเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ ที่ช่วยแจ้งเตือนภัยกลลวงและรับมือกับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพออนไลน์ในรูปต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง

โดยความร่วมมือของ Whoscall กับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 11 องค์กร ประกอบด้วย

  • สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  • สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
  • กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)
  • กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
  • บมจ.แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส (AIS)
  • บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (ทรู)
  • บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ
  • บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์
  • กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  • สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • โครงการ Cofact Thailand

โดยมองเห็นภาพเดียวกันว่า อาชญากรรมไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแต่รวมถึงภาครัฐและธุรกิจด้วย จึงได้ร่วมมือกันเพื่อเปิดตัวฟีเจอร์ “Scam Alert” หรือ “เตือนภัยกลโกง” ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพแห่งแรกของไทยแบบรวมศูนย์ เพื่อจัดการกับข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ แจ้งเตือนภัยและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบอย่างทั่วถึง

Scam Alert คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง?

บริการ Scam Alert เป็นฟีเจอร์ที่ถูกออกแบบให้เป็นฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์สำหรับประชาชน โดยแบ่งเป็นการเตือนภัยโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐและข้อมูลเตือนภัยกลโกงในรูปแบบต่างๆ จากพันธมิตรภาคเอกชน ที่สามารถใช้ได้บนแอปพลิเคชัน Whoscall โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งเวอร์ชันฟรีและพรีเมียม

  • เตือนภัยกลโกงล่าสุด (Scam Trending Alert) - ผู้ใช้งาน Whoscall สามารถเปิดการแจ้งเตือนอัตโนมัติบนแอปพลิเคชันเพื่อรับข้อมูลแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพที่สำคัญและเร่งด่วน เช่น การแอบอ้างหน่วยงานที่สำคัญ การหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายขนาดใหญ่และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจากองค์กรภาครัฐ เช่น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจไซเบอร์ กสทช. และ สกมช.

  • เตือนภัยกลโกงรู้ทันมิจฉาชีพ (Scam Education Content) - ฟีเจอร์นี้จะเป็นแพลตฟอร์มที่รวมความรู้เกี่ยวกับกลวิธีการหลอกลวง และเคล็ดลับการป้องกันต่างๆ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เช่น การหลอกลวงด้านการลงทุน การหลอกลวงการชำระบิล การหลอกลวงในการซื้อของ การหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงรายงานและข้อมูลเชิงลึกจาก Whoscall และองค์กร Global Anti-Scam Alliance (GASA)

Whoscall กลายเป็นอีกหนึ่งโซลูชันของคนไทยที่เลือกใช้เพื่อป้องกันการหลอกลวงแบบครบวงจร โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ Whoscall สามารถตรวจพบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้เกือบถึง 19 ล้านครั้ง ในขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่หลอกลวงได้กว่า 47,000 รายการระหว่างเดือนตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2567

นอกจากฟีเจอร์ Scam Alert แล้ว Whoscall ยังมีการเดินหน้าพัฒนาแคมเปญด้านการศึกษา ด้วยความหวังที่จะเพิ่มพูนความรู้ในการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์ให้แก่ประชาชนผ่านโครงการเพื่อสังคม อย่างเช่น โครงการ Cyber Vaccinated ที่ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานมีความรู้เท่าทันและอยู่เหนือกลโกงของมิจฉาชีพ

นอกจากนี้บน Whoscall ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่สามารถใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน เช่น Auto Web Checker เพื่อปกป้องผู้ใช้จากการคลิกลิงก์ฟิชชิ่งโดยไม่ได้ตั้งใจแบบอัตโนมัติ และ ID Security (เช็กข้อมูลรั่วไหล) เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจากฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ฟรีและแบบพรีเมียม

อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ยังสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ภาครัฐและเอกชนพัฒนาขึ้นเป็นกลไกในการจัดการกับปัญหามิจฉาชีพ อาทิ การแจ้งความดำเนินคดีที่ศูนย์ AOC 1441 หรือ thaipolice.go.th หรือผ่านทางเว็บไซต์ตำรวจสอบสวนกลางที่ https://www.cib.go.th/e-service หรือการแจ้งเลขหมายที่เป็นมิจฉาชีพต่อ กสทช. ที่ 1200 โทรฟรีหรือแจ้งที่ผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายและช่องทางในการสื่อสารต่างๆ ขององค์กรภาคีด้วย

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์