Netflix เจอความท้าทาย ต้องการลดคาร์บอน แต่ต้นทุนพุ่ง แถมใช้ทรัพยากรเกินคาด

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Netflix เจอความท้าทาย ต้องการลดคาร์บอน แต่ต้นทุนพุ่ง แถมใช้ทรัพยากรเกินคาด

Date Time: 5 ก.ย. 2567 16:35 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • Netflix กับแผนลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ภายในปี 2030 ด้วยการปรับการทำงานในการถ่ายทำที่ใช้เทคโนโลยี และเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกแทน แต่ต้องพบกับความท้าทายทั้งด้านต้นทุนเงิน ต้นทุนคน และต้นทุนเวลาที่เพิ่มสูงขึ้น

Latest


หนึ่งในความบันเทิงของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น “การชมภาพยนตร์และซีรีส์” ที่ปัจจุบันได้มีการรังสรรค์ออกมาอย่างหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง “ฮอลลีวูด” เป็นตลาดซีรีส์และภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการดึงรายได้เข้าสหรัฐอเมริกากว่า 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2022 มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในแต่ละปี “ฮอลลีวูด” จะมีการถ่ายทำภาพยนตร์มากมาย โดยยอดภาพยนตร์ล่าสุดของปี 2023 ถ่ายทำอยู่ที่ 1,241 เรื่อง ใช้งบประมาณรวมอยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ปี 2024 มีการถ่ายทำไปแล้ว 931 เรื่อง ด้วยงบกว่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ ไม่ได้มีแค่เรื่องของงบประมาณและรายได้เท่านั้นที่เป็นเรื่องให้ผู้ผลิตขบคิด แต่ยังมีเรื่องของ “ความยั่งยืน” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งผู้ผลิตซีรีส์และภาพยนตร์รายใหญ่อย่าง “Netflix” กำลังมุ่งมั่นเดินหน้าแผนที่จะลด Carbon Footprint ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 แต่กลับพบกับความท้าทายมากมายระหว่างทาง


วงการภาพยนตร์และการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ


จากรายงาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตภาพยนตร์และ TV ของ Sustainable Production Alliance พบว่า ในการผลิตภาพยนตร์เรื่องใหญ่ ๆ อย่างเช่น Oppenheimer หรือ Barbie จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่ประมาณ 3,370 เมตริกตัน หรือประมาณ 33 เมตริกตันต่อวัน ซึ่งจะเทียบเท่ากับบ้าน 656 หลังปล่อยคาร์บอนฯ ออกมาใน 1 ปีเลยทีเดียว ในขณะที่รายการขนาดเล็กจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่ประมาณ 391 เมตริกตัน

ซึ่งในกระบวนการถ่ายทำและผลิตจะประกอบไปด้วย การก่อสร้างบ้านนักแสดงและทีมงานไปจนถึงฉากถ่ายทำ การเดินทางและการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ เชื้อเพลิง ไปจนถึงสาธารณูปโภคอื่น ๆ โดยเชื้อเพลิง (Fuel) จะเป็นส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากที่สุดอยู่ที่ 48%

โดยตลอดที่ผ่านมา ได้มีการออกมาเรียกร้องให้วงการภาพยนตร์ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจและตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เนื่องจากการถ่ายทำแต่ละครั้งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศที่เข้าไปใช้งาน ทั้งมลพิษที่เพิ่มขึ้น ทำลายพื้นที่ที่ใช้ถ่ายทำเป็นวงกว้าง ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรประกอบฉากจำนวนมหาศาล และยังไม่มีการจัดการหรือทำลายที่เหมาะสม

และ Netflix ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ต้องการจะขับเคลื่อนและเปลี่ยนวงการฮอลลีวูดให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้นโยบายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ภายในปี 2030 ซึ่ง Netflix ได้มีการโฟกัสเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2020

จากรายงานของ Netflix พบว่า ในปี 2022 การปล่อยก๊าซฯ สูงกว่าปี 2019 ในขณะที่ปี 2023 การปล่อยก๊าซฯ ลดลงเนื่องจากเกิดการประท้วงหยุดงานของนักแสดง ทำให้การถ่ายทำหยุดชะงัก


ความท้าทายของ Netflix กับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ


Netflix ได้เริ่มต้นปรับเปลี่ยนกระบวนการที่ใช้ทั้งในการถ่ายทำและผลิตซีรีส์ไปจนถึงภาพยนตร์ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยเปลี่ยนยานพาหนะที่ใช้ในการถ่ายทำและในการขนส่งไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์สันดาป อีกทั้งยังใช้แหล่งกำเนิดไฟฟ้าเป็นพลังงานจากโซลาร์เซลล์แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่

นอกจากนี้ Netflix ยังได้เสนอแนวทางให้กับพาร์ทเนอร์ในพื้นที่ถ่ายทำทั่วโลกหันมาซัพพลายอุปกรณ์ที่ตอบรับกับนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเช่น อะไหล่สำหรับเครื่องกำเนิดไฟที่ใช้โซลาร์เซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือที่รองรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะเร่งให้ซัพพลายเออร์ในพื้นที่ปรับตัวตามความต้องการของ Netflix เพียงเจ้าเดียวก็ไม่ได้ เนื่องจากซัพพลายเออร์หลายรายก็ให้บริการกับผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์รายอื่นอีก และการจะต้องทุ่มเงินมหาศาลลงไปเพื่อเปลี่ยนแปลงสินค้าและบริการใหม่นั้น เป็นเรื่องยากที่ซัพพลายเออร์จะทำได้

และก็ไม่ได้มีแค่ซัพพลายเออร์เท่านั้น ที่พบว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ “การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นศูนย์” นั้นมีความท้าทาย ทาง Netflix เองก็พบกับความท้าทายมากมาย อย่างเช่น


— ต้นทุน “เงิน” ที่สูงขึ้น —


ยกตัวอย่าง การถ่ายทำซีรีส์เรื่อง Virgin River ของ Netflix ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่เป็นเหมือน Role-Model ให้กับซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน โดยต้นทุนของการผลิตซีรีส์เรื่องนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการปรับเปลี่ยนมาใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่แค่รถในเซ็ตถ่ายทำเท่านั้น แต่เทรลเลอร์ขนของก็หันมาใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในการชาร์จไฟด้วยเช่นกัน และจากรายงานของ Bloomberg พบว่า ต้นทุนการใช้งานเทรลเลอร์เพิ่มสูงขึ้นกว่าใช้เครื่องยนต์ดีเซลถึง 50%

นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ของการถ่ายทำ ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป หรือเอเชีย มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน และรัฐบาลบางแห่งมีนโยบายรองรับพลังงานสะอาดที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ในนิวยอร์กการใช้งานพลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีแสงแดดน้อยและมีเมฆมากในพื้นที่ ในขณะที่บริติชโคลัมเบียของแคนาดายังมีการใช้งานพลังงานสะอาดน้อย ส่งผลให้ Netflix ต้องลงทุนในเครื่องกำเนิดไฟสำรองเพิ่มไปอีก


— ต้นทุน “เวลา” ที่ต้องใช้มากขึ้น —


จากการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและเทรลเลอร์ไฟฟ้า ส่งผลให้พนักงานในฉากถ่ายทำต้องทำงานล่วงหน้าเร็วขึ้น เนื่องจากต้องเตรียมใช้เวลาเตรียมเครื่องมือก่อนเริ่มทำงานจริง อีกทั้งสตาฟบางคนยังต้องเข้าทำงานก่อนเพื่อเช็คความพร้อมของยานยนต์ เนื่องจากเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคบ่อย และทุกวินาทีที่เสียไปในการเซ็ตฉากถ่ายทำ เท่ากับต้องเสียต้นทุนเงินไปแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของ Netflix ที่ผ่านมา อย่างการเปลี่ยนมาใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาดในการขนส่ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ ลงได้เพียง 5% ในปี 2022 และลดได้ 2% ในปี 2023

ส่วนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากที่สุด คือ การลงทุนในพื้นที่ที่ถ่ายทำเพื่อพัฒนาให้มี Renewable Energy ผ่านการลงทุนในการสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ หรือจ่ายเงินเพื่อใช้งานโซลาร์เซลล์ในพื้นที่นั่นเอง


ที่มา: Bloomberg, TimeThe Numbers

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ