จากไม่เอา OpenAI เมื่อ 7 ปีก่อน ส่งผลให้ Intel แทบจะไปไม่รอดอย่างไรในยุคนี้?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จากไม่เอา OpenAI เมื่อ 7 ปีก่อน ส่งผลให้ Intel แทบจะไปไม่รอดอย่างไรในยุคนี้?

Date Time: 8 ส.ค. 2567 13:57 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • จากบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ กับ "Intel" บริษัทเทคฯ ที่กำลังจะไปไม่รอดในยุค AI หลังจากพลาดโอกาส ปฏิเสธ OpenAI ไปเมื่อ 7 ปีก่อน จนส่งผลกระทบถึงวันนี้ที่ Intel ยังไม่สามารถเอาชนะใจลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ AI ได้เลย

Latest


ช่วงต้นปี 2000 อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Intel กำลังฟูเฟื่อง ถึงขั้นที่มีมูลค่าทางตลาดมากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่แล้วก็ต้องมาพลิกผันเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI และถ้าถามว่าทำไม? Thairath Money จะพาย้อนไปดูการตัดสินใจครั้งหนึ่งของ Intel ที่กำลังส่งผลกระทบกับบริษัทในปัจจุบัน

หนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ คงหนีไม่พ้น การปฏิเสธทีมวิจัยไฟแรง ผู้ให้กำเนิดแชตบอตเปลี่ยนโลก…

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อนในช่วงเริ่มต้นของ OpenAI ที่ ณ ตอนนั้นยังเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทำวิจัยใน Generative AI ที่ยังแทบไม่มีใครรู้จัก ได้เข้าไปพูดคุยกับ Intel เพื่อทำข้อตกลงให้ Intel เข้าซื้อหุ้นของ OpenAI

อย่างไรก็ตาม Intel เลือกที่จะปฏิเสธโอกาสนั้น จากข้อมูลของ Reuters กล่าวว่า Bob Swan ซีอีโอ Intel ในขณะนั้นเลือกที่จะปฏิเสธ เพราะ “ไม่คิดว่าโมเดล GenAI จะเข้ามาทำตลาดได้ในอนาคตอันใกล้ และไม่คิดว่า OpenAI จะสร้างผลประโยชน์จากเงินลงทุนให้กับ Intel ได้”

ซึ่งในช่วง 2017-2018 ได้มีข่าวออกมาว่า OpenAI มีข้อเสนอหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ Intel เข้ามาถือหุ้น 15% เพื่อแลกกับเงินสด 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน Intel เสนอกลับว่า หากให้ถือหุ้น 15% ทาง OpenAI จะต้องซื้อฮาร์ดแวร์ของ Intel โดย Intel จะให้ในราคาทุน

ณ ตอนนั้น OpenAI ต้องการที่จะให้ Intel เข้ามาลงทุน เพื่อที่จะลดการพึ่งพาชิปของ Nvidia และเพื่อที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองได้ แต่แล้วดีลก็ต้องล้มไป เพราะทีม Data Center ของ Intel ไม่ต้องการที่จะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตาม OpenAI เสนอ

และหลังจากดีล Intel-OpenAI ล้มไป ในปี 2019 ทาง Microsoft ก็ได้ตัดสินใจเข้าลงทุนใน OpenAI และดันให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อย่าง ChatGPT ออกมาในตลาดเมื่อปี 2022 ที่กลายเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก และทำให้มูลค่าของ OpenAI สูงกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน


ขาลงของ Intel?


ระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา Intel เคยขึ้นไปยืนในจุดพีก เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันมูลบริษัทกลับเหลือไม่ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Intel กำลังตกอยู่ในช่วงยากลำบาก เพราะยังไม่สามารถทำเงินจากชิป AI ได้ในตลาดในตอนนี้ 

ปัจจุบัน Intel กำลังตามหลังผู้เล่นอื่นในตลาดชิป ที่มีรายใหญ่อย่าง Nvidia ที่หันมาเดินหน้าพัฒนาชิป AI มากขึ้น จนดันมูลค่าบริษัทไปสู่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์หสหรัฐ นอกจากนี้ Nvidia ยังมีลูกค้าเป็นบิ๊กเทคอื่นๆ อีกหลายราย ทั้ง Meta, Microsoft และ OpenAI

นอกจาก Nvidia แล้ว Intel ก็ยังตามหลัง ผู้ผลิตชิป AMD ที่มีมูลค่าแซงหน้าไปแล้วที่ 2.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านนักวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์จาก SemiAnalysis กล่าวว่า “Intel กำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่ด้าน AI เพราะไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้” 

ระยะเวลาหลายสิบปีที่ Intel มองว่า CPU จะมีศักยภาพมากกว่าในการประมวลผลและการทำงานของโมเดล AI แต่ต่อมา ได้มีงานวิจัยออกมายืนยันว่า GPU มีศักยภาพมากกว่าในการเทรน AI เพราะมีโครงสร้างที่รองรับการคำนวณที่ใหญ่กว่า

ส่งผลให้ต่อมาทาง Intel จึงต้องหาทางไปต่อในยุค AI จากรายงานของ Reuters พบว่า Intel พยายามมากกว่า 4 ครั้งในการพัฒนาชิป AI ที่มีศักยภาพพอ ด้วยการเข้าซื้อ Startup อย่าง Nervana System ด้วยงบกว่า 408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Habana Labs ด้วยงบกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านธุรกิจ Data Center ของ Intel คาดว่าจะทำยอดขายในปี 2024 นี้ได้ประมาณ 1.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Nvidia คาดว่าจะทำได้ประมาณ 1.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา หุ้นของ Intel ร่วงลง 26% นับว่าเป็นช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974 หลังจาก Intel ประกาศจะลดพนักงานกว่า 15,000 คน เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทและลดต้นทุน ซึ่งส่งผลให้ Intel สูญเสียมูลค่าทางตลาดไปกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 


ที่มา: Reuters (1)(2), Forbes


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์