เจาะธุรกิจ Visa ฟินเทคยุคแรกๆ ของโลก ทำเงินจากอะไร ทำไมกำไรเป็นแสนล้าน?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะธุรกิจ Visa ฟินเทคยุคแรกๆ ของโลก ทำเงินจากอะไร ทำไมกำไรเป็นแสนล้าน?

Date Time: 7 ส.ค. 2567 13:03 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • Visa หนึ่งในบริษัทใหญ่ที่หลายคนต้องคุ้นชื่อ ผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินเข้าแรกๆ ของโลก ที่ปัจจุบันนี้ในทุกๆ ปี Visa สามารถสร้างรายได้ และกำไร ได้จำนวนมหาศาล จนขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกการเงิน แล้ว Visa ทำเงินจากอะไร? ในบทความนี้ How to Make Money จะพาไปส่องกลยุทธ์และวิธีทำเงินของ Visa กัน

Latest


หนึ่งในผู้ให้บริการเบื้องหลังการทำธุรกรรมทางการเงินที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก อย่าง “Visa” ได้กลายมาเป็นผู้เล่นหลักในโลกทางการเงิน และหากเราลองเปิดกระเป๋าสตางค์ตัวเองดู เชื่อว่า จะต้องมีบัตรที่มีโลโก้ของ “Visa” อยู่อย่างแน่นอน

หลายคนอาจคิดว่า Visa เป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตและเดบิต แต่จริง ๆ แล้ว Visa เป็นมากกว่านั้น Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะพาไปทำความเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว Visa ทำเงินอย่างไร ทำไมถึงกำไรเป็นแสนล้าน?


ย้อนประวัติศาสตร์ธุรกิจ Visa 


Visa บริษัทเทคโนโลยี ผู้ให้บริการเครือข่ายการทำธุรกรรมทางการเงินที่เชื่อมเส้นทางทางการเงินระหว่าง ลูกค้า ร้านค้า สถาบันทางการเงิน และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเงินอื่นๆ 

โดยจุดเริ่มต้นของ Visa เราต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณช่วงปี 1950 เป็นช่วงที่การเงินแบบผ่อนชำระ (Installment Payments) กำลังได้รับความนิยม และเจ้าใหญ่ของผู้ใช้บริการบัตรเครดิตในช่วงนั้นคือ Bank of America แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านกฎหมายทำให้ Bank of America ไม่สามารถดำเนินการทำธุรกรรมแบบข้ามรัฐได้ภายในสหรัฐอเมริกา จึงได้ตั้ง National BankAmericard Inc. หรือ NBI ขึ้นมา และต่อมาในปี 1973 เมื่อกฎเกณฑ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง มีการลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมลง ทาง NBI จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Visa และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

Visa ถือเป็นผู้นำในวงการ Payment ที่ได้ดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยน “เงินสด” เป็นการชำระเงิน “แบบดิจิทัล” Visa ดำเนินงานเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการชำระเงินระดับโลก โดยผลิตภัณฑ์ของ Visa สามารถใช้ได้ทั้งบน การ์ด แล็ปท็อป แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน จากข้อมูลของ Visa พบว่า ปัจจุบัน Visa มีลูกค้าที่ใช้งานอยู่กว่า 4,300 ล้านราย ให้บริการในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ดำเนินงานร่วมกับสถาบันทางการเงินกว่า 15,000 สถาบัน และมีบันทึกการชำระเงินของลูกค้ากว่า 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยในปี 2023 Visa สามารถทำรายได้ไปมากถึง 32,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 11% เนื่องมาจากยอดการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น ผู้คนกลับมาท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ยอดการชำระเงินทั่วโลกโตขึ้น 9% และการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโตขึ้นถึง 20%

เบื้องหลังเทคโนโลยีของ Visa 


ทุกครั้งที่เรารูดหรือแตะบัตร Visa ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายให้กับร้านสะดวกซื้อ หรือในห้างสรรพสินค้าที่เป็นการจ่ายแบบ C2B (Customer to Business) หรือลูกค้าจ่ายให้กับธุรกิจ ก็เกิดการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของบัตร Visa ของเรา กับสถาบันการเงินของร้านค้าที่เราจ่าย และทั้งสองสถาบันการเงินนี้จะมีการดำเนินการผ่าน “VisaNet” เพื่อจ่ายรับเงินกัน

VisaNet คือ เครือข่าย (Network) ที่เป็นหัวใจของการทำงานของ Visa เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมการทำธุรกรรมทุกอย่างบน Visa เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก และเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ทุกการทำธุรกรรมทางการงานเงินของลูกค้า ธุรกิจ และรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับผลประโยชน์จากธุรกรรมที่ปลอดภัย

ยิ่งไปกว่านั้น Visa ยังได้พัฒนา VisaNet +AI ที่สามารถช่วยให้เกิดการทำธุรกรรมที่อัจฉริยะมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น โดย Visa ให้ความสำคัญและยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการที่ปลอดภัยให้กับลูกค้าทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินตลอด 24 ชั่วโมง 

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว Visa ยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างแบรนด์ตัวเองให้ลูกค้าไม่อยากเปลี่ยนไปใช้งานเจ้าอื่น ด้วยจำนวนการใช้งาน Visa และชื่อเสียงของ Visa อีกทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงในการเปลี่ยนผู้ให้บริการบนบัตรทำให้ลูกค้าเลือกที่จะอยู่กับ Visa นั่นเอง 

แล้ว Visa ทำเงินจากอะไร?


“ค่าธรรมเนียม” คือ รายได้หลักของ Visa ที่เก็บมาจากบริการ 2 รูปแบบคือ ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทางการเงิน และค่าธรรมเนียมจากบริการอื่น ๆ


– รายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางการเงิน

  • รายได้จากบริการทางการเงิน: ในปี 2023 Visa มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการทางการเงินที่ 14,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ บริการประมวลผลการชำระเงิน (Payment Processing Services) และบริการโซลูชันเทคโนโลยี อย่างเช่น ระบบประมวลผลการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ (Transaction Processing) ทั้ง Clearing และ Settlement, ระบบจัดการความเสี่ยง (Risk Management)  และระบบความปลอดภัย (Security Services)

  • รายได้จากธุรกรรมข้ามประเทศ: ในปี 2023 Visa มีรายได้จากบริการธุรกรรมข้ามประเทศ (International Transaction) อยู่ที่ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรายได้ส่วนนี้มาจากการที่ลูกค้าชำระเงินข้ามพรมแดน หรือมีการแลกเปลี่ยนเงินตราเกิดขึ้น ซึ่งบริการเหล่านี้มีความซับซ้อน และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการฉ้อโกง Visa จึงมีรายได้จากการทำธุรกรรมแบบนี้จำนวนมหาศาล บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น คือ เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคราคาสูงขึ้น ดอกเบี้ยของสถาบันการเงินและรัฐบาลก็จะสูงขึ้นตาม จะยิ่งส่งผลให้ Visa มีกำไรเพิ่มขึ้นนั่นเอง

– รายได้จากค่าธรรมเนียมบริการอื่นๆ ของ Visa

  • รายได้จากการให้บริการด้านข้อมูล: อีกหนึ่งบริการของการเป็นเบื้องหลังโลกธุรกรรมแล้ว Visa ยังมีบริการประมวลข้อมูลการทำธุรกรรม และวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวให้กับพาร์ตเนอร์อีกด้วย โดยจะมีการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างเช่น พฤติกรรมผู้บริโภค การจัดการความเสี่ยงในการทำธุรกรรม มาร์เก็ตติ้ง และอื่นๆ ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้อมูล ซึ่งในปี 2023 Visa มีรายได้จากส่วนนี้อยู่ที่ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนว่ารายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีผลมาจากภาวะเงินเฟ้อ

Visa อยู่จุดไหน เมื่อเทียบกับคู่แข่ง?


คู่แข่งรายหลักๆ ของ Visa ที่เราเคยเห็นกันมาคงหนีไม่พ้น MasterCard และ UnionPay ที่นับตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2022 คงเป็นคู่แข่งที่สูสีเบียดกันแย่งส่วนแบ่งทางตลาดมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ Statista พบว่า ในปี 2022 ทาง Visa ถือส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุด อยู่ที่ 38.7% ตามมาด้วย UnionPay ที่ 34.1%, MasterCard ที่ 24% และอื่นๆ อีก 3.2%

จากภาพข้างต้น จะเห็นว่าส่วนแบ่งของ Visa ยังคงเป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มที่จะลดลงเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ในขณะที่ UnionPay กำลังมีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้นต่อเนื่อง 

และสำหรับ MasterCard ที่เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญของตลาดผู้ให้บริการเบื้องหลังการทำธุรกรรม ในระหว่างปี 2018-2022 พบว่า Visa สามารถขึ้นแซงหน้า MasterCard โดย Visa มีอัตราส่วนผลตอบแทนจากเงินทุน (ROIC) ที่ 88% และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 48.7% ในขณะที่ MasterCard มี ROIC อยู่ที่ 54% และอัตรากำไรสุทธิที่ 41.3% 

และหากย้อนดูรายได้ของ Visa ในแต่ละปี จะพบว่า เมื่อปี 2022 รายได้ของ Visa อยู่ที่ for 29,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.59% จากปี 2021 ในขณะที่ปี 2021 มีรายได้อยู่ที่ 24,105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.34% จากปี 2020 ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า Visa มีรายได้โตขึ้นในทุก ๆ ปี

ซึ่งข้อได้เปรียบหลักๆ ของ Visa คือ การเป็นเจ้าเก่าในตลาด มีกลยุทธ์ในการทำการตลาดที่เห็นผลกว่า และเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ อีกทั้งเทคโนโลยีของ Visa ยังมีศักยภาพมากกว่าในการทำธุรกรรม โดย Visa สามารถประมวลการทำธุรกรรมได้ที่ 65,000 ธุรกรรมต่อวินาที ในขณะที่ MasterCard ทำได้ที่ 5,000 ธุรกรรมต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกกลุ่มคู่แข่งที่น่าติดตาม คือ กลุ่มผู้ให้บริการระบบการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์ และดิจิทัลวอลเล็ต อย่าง Apple Pay, Google Pay และ PayPal ที่ปัจจุบันเริ่มเข้ามาแย่งพื้นที่ในตลาดกับผู้ให้บริการดั้งเดิม ทั้ง Visa, MasterCard และ UnionPay แล้ว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ คริปโตเคอร์เรนซีที่อาจจะส่งผลให้ ผู้คนใช้งานระบบชำระเงินแบบดั้งเดิมลดลงอีกด้วย


ที่มา: Visa (1)(2)(3), SimTrade, StatistaValutico

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์