Temu คือใคร? แอปฯ จีน บุกไทย เน้นขายของถูก ยอมไม่เอากำไร แต่ทำไมยังอยู่ได้

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Temu คือใคร? แอปฯ จีน บุกไทย เน้นขายของถูก ยอมไม่เอากำไร แต่ทำไมยังอยู่ได้

Date Time: 30 ก.ค. 2567 18:20 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • Temu แพลตฟอร์ม e-Commerce จากจีน บุกไทยแล้ว! เปิดให้ลูกค้าไทยสั่งสินค้าออนไลน์ได้แล้ววันนี้ หลังขึ้นแท่นเป็นอีกหนึ่งแอปฯ ใหม่ที่เจาะตลาดโลกด้วยสินค้าราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ จนผู้ให้บริการเดิมในสหรัฐฯ อย่าง Amazon ต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มส่วนลด และดึงสินค้าจีนไปขายบนแพลตฟอร์ม

Latest


Temu แพลตฟอร์ม e-Commerce จากจีน ผู้ให้บริการสินค้าออนไลน์ตั้งแต่ฟาสต์แฟชั่นไปจนถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยสินค้ามาในราคาที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ประกาศเปิดให้บริการในประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชัน “Temu” 

โดย Temu เผยว่า ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่พร้อม และต้นทุนในการผลิตที่ถูก ทำให้ Temu สามารถขยายตลาดมาสู่ประเทศไทย และสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าคนไทย ในราคาที่ถูกลง ยิ่งซื้อเยอะยิ่งมีส่วนลด อีกทั้งยังมีโปรโมชัน ที่สินค้าบางรายการลดมากถึง 90% 

Temu ยังเผยอีกว่า ลูกค้าในประเทศไทยมีกำลังซื้อสินค้า และสินค้าราคาถูกก็มียอดขายดี ซึ่งตรงกับโมเดลธุรกิจ และกลยุทธ์การตลาดของ Temu ที่ต้องการขายสินค้าในราคาที่ไม่สูงมาก ทุกคนเข้าถึงได้ และยังมาพร้อมกับโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าต่างๆ ที่ทุกขั้นตอนการซื้อสามารถทำได้ครบจบในแอปฯ เดียว โดย Temu จะให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบชำระเงินที่มีความปลอดภัย

ในเรื่องของการส่งสินค้า Temu จะเก็บค่าส่งสินค้าในราคาต่ำ และสำหรับลูกค้าใหม่มักจะได้ส่วนลดค่าส่ง หรือไม่เก็บค่าส่งสินค้าเลย โดย Temu จะยกเอาความพึงพอใจของลูกค้าขึ้นมาเป็นหลักในการให้บริการ

Temu เป็นใคร?


Temu เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce ของ PDD Holdings Inc. บริษัทจากจีน เจ้าของเดียวกันกับแพลตฟอร์มชื่อดังในจีน อย่าง Pinduoduo โดย Temu เปิดตัวมาเมื่อปี 2022 ในบอสตัน แมสซาชูเซตส์ 

Temu จะมีสโลแกนว่า “Shop Like a Billionaire” สื่อถึงสินค้าที่มีราคาถูกมาก จนใครๆ ก็สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องราคาสินค้า อีกทั้ง Temu ยังตัดเรื่องพ่อค้าคนกลางออกไป ทำให้ส่งมอบสินค้าราคาถูกถึงลูกค้าได้นั่นเอง

และระยะเวลาไม่นานหลังจาก Temu เปิดตัวแอปฯ ก็มีผู้ใช้งานชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านราย ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Shein มีผู้ใช้งานในสหรัฐฯ อยู่ที่ 13.7 ล้านคน

ปัจจุบัน Temu เปิดให้ใช้งานไปแล้วใน 18 ประเทศทั่วโลก อย่างเช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่สุดของ Temu มีสัดส่วนอยู่ที่ 42.1% ตามมาด้วยตลาดในยุโรป และตลาดอื่น ๆ และประเทศไทยคือที่ล่าสุดที่ Temu เข้ามาตีตลาด อย่างไรก็ตาม ในไทยยังมีเจ้าใหญ่ e-Commerce ทั้ง Shopee และ Lazada ที่ยังคงแข็งแรงในภูมิภาคนี้ 

โดย Temu ได้เร่งพัฒนาด้านระบบโลจิสติกส์และโกดังจัดเก็บสินค้า เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถเก็บสินค้าขนาดใหญ่อย่าง เช่น โซฟา หรือของใช้ในบ้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เตรียมพร้อมส่งสินค้าทุกชิ้นถึงมือลูกค้าด้วยความรวดเร็ว

จากข้อมูลของ MobiLoud พบว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ของ Temu ในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่อมาไม่กี่เดือนในช่วงมกราคม 2023 ทาง Temu มียอดขายอยู่ที่ 192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยลูกค้าชาวไทย สามารถโหลดแอปพลิเคชัน “Temu” ได้แล้ววันนี้ ผ่าน Google Play Store และ Apple Store และหลังจากลงทะเบียนสร้างบัญชีในแอปฯ แล้วจะมีโปรโมชันและส่วนลดในการช็อปสินค้าครั้งแรก

ทำไม Temu ถึงเป็นตัวตึงในวงการ e-Commerce?


ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและด้วยสินค้าที่มีราคาถูกของ Temu ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในหมู่ผู้ให้บริการของสหรัฐอเมริกา อย่าง Amazon, eBay และ Etsy แพลตฟอร์ม e-Commerce เจ้าใหญ่ที่หลังจาก Temu และ Shein ส่งสินค้าราคาถูกจากจีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ทำให้เจ้าเดิมในตลาดต้องเสียส่วนแบ่งในตลาดไป

ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้ในตลาดสหรัฐฯ จะพบว่า Temu มีรายได้ที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามหลังเพียง Amazon ที่มีรายได้ 7 แสนล้านดอลลาร์ Walmart eCom มีรายได้ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ Shein ที่มีรายได้อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Temu กลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากโฆษณาในงาน Super Bowl 58 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 โดย Temu ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาไปกว่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดแทบจะตลอดปี 2023 เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม Temu กลับได้รับรีวิวที่ไม่ค่อยดีนัก อย่างเช่น สินค้าคุณภาพแย่ สินค้าปลอม กดขี่แรงงาน ขโมยข้อมูลลูกค้า และละเมิดลิขสิทธิ์เป็นต้น อีกทั้ง Temu ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำกำไรได้จากการขายสินค้าออนไลน์ จากข้อมูล WIRED พบว่า Temu ขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 30 ดอลลาร์ต่อออเดอร์ และอาจจะขาดทุนมากถึง 588-954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน Amazon หลังจากถูกกดดันจากทั้ง Shein และ Temu ก็มีการขยายบริการบนแพลตฟอร์มออกไป โดยจะเพิ่มกลุ่มสินค้าจีนลงไป พร้อมกับเพิ่มโปรโมชัน และส่วนลด เพื่อดึงดูดลูกค้ากลับมาบนแพลตฟอร์มมากขึ้น


ที่มา: Temu, CNBC, MobiLoud, Forbes, WSJWIRED

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์