นายโทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแคปปิตอล เอ (Capital A) และ MOVE Digital นำทัพ เปิดตัว "BigPay" กระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ชูจุดเด่นบริการทางการเงินเพื่อการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้การบริหารเงินของคนไทยเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
BigPay คือ แพลตฟอร์มกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) พัฒนาขึ้นในปี 2017 เป็นส่วนหนึ่งของ MOVE Digital ซึ่งดำเนินงานบริการดิจิทัลของ Capital A Berhad เช่นเดียวกับ airasia MOVE หรือในชื่อเดิมคือ airasia Superapp ซุปเปอร์แอปของเครือ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีการควบรวม BigPay เข้ากับ airasia MOVE เพื่อรองรับการให้บริการด้านการเงินใหม่ๆ ในอนาคต ตอกย้ำเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางยุคใหม่
การบูรณาการฟีเจอร์หลักของ BigPay จะช่วยสนับสนุนระบบการชำระเงินทุกอย่างภายในระบบนิเวศของ airasia Move ทำให้การทำธุรกรรมมีความยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแอปฯ และทำให้ประสบการณ์ในการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดในการพัฒนา BigPay คือ เป้าหมายสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอาเซียน ด้วยบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกการใช้จ่ายของผู้คนในภูมิภาค ชูจุดเด่นเครื่องมือทางการเงินครบวงจร ทำให้การจัดการด้านการเงินเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย โปร่งใส ปลอดภัย และใช้ได้จริง
ปัจจุบัน BigPay เปิดให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การโอนเงินในประเทศ ชำระเงินระหว่างประเทศ บัตรเครดิต ประกันภัยสำหรับรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ไปจนถึงฟีเจอร์บริหารจัดการเงิน โดยล่าสุดได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย พร้อมวางแผนขยายบริการสู่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในลำดับถัดไป
นายโทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแคปปิตอล เอ (Capital A) และ MOVE Digital กล่าวถึง ความมั่นใจในการขยายบริการ BigPay ในประเทศไทยว่า บริการดังกล่าวจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งระบบอีโคซิสเต็มของกลุ่มให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น การเข้ามาในเกมของธุรกิจฟินเทคจะเชื่อมโยงธุรกิจสายการบินที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสอง
“แม้ว่า BigPay จะเพิ่งเปิดตัว แต่เชื่อว่าตลาดนี้ยังมีพื้นที่ที่เติบโตได้อีก จุดแข็งของ BigPay คือ ฐานข้อมูล AirAsia ที่ประกอบไปด้วยพฤติกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวที่สามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ตรงจุด เราเชื่อว่าการร่วมมือและพัฒนาไปพร้อมกับพันธมิตรในประเทศไทยจะช่วยให้เราสร้างบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด อีกทั้งยังเชื่อว่าภายในห้าปี BigPay จะเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในประเทศไทยเหมือนธุรกิจของเราก่อนหน้านี้”
นางสาวอภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ BigPay ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ระยะแรก BigPay จะมุ่งเจาะตลาดท่องเที่ยว ด้วยฟีเจอร์ด้านการเงินสำหรับการท่องเที่ยวแบบครบวงจรสำหรับนักเดินทางชาวไทย
สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย โดยเฉพาะการเก็บเงินเพื่อการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวมีลักษณะคล้ายกับผู้ใช้ BigPayในมาเลเซียและสิงคโปร์ จากอินไซด์พบว่า 65% ของผู้ใช้เจอความท้าทายในการบริหารจัดการการเงินเพื่อการใช้ชีวิต เช่น การวางแผนการเงินเพื่อท่องเที่ยวหรือการเติมเต็มด้วยประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เราสามารถนำแนวทางในการให้บริการจากสองประเทศแรกมาเป็นแนวทางในการให้บริการได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายแรกในประเทศไทย คือ การเจาะตลาดท่องเที่ยว ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z กว่า 13 ล้านคนที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานและมีเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น
BigPay ร่วมกับ Visa ให้บริการ BigPay Visa Platinum Card บัตร Travel Card Pre-paid ที่เน้นใช้เพื่อการท่องเที่ยวและแตะใช้จ่ายทั่วโลก ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนแบบเรียลไทม์ และค่าธรรมเนียมสุดประหยัด
และที่สำคัญที่สุด คือ การผสานสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าจากอีโคซิสเต็มของ airasia MOVE ซึ่งผู้ใช้สามารถเชื่อมบัญชี BigPay กับ airasia MOVE เพื่อรับสิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นสุดพิเศษจาก พร้อมรับคะแนน AirAsia points ทุกการใช้จ่ายผ่านแอปฯ
เมื่อถามถึงความท้าทายของตลาดผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ตในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหลังจากพบว่าบางรายยุติการให้บริการ นางสาวอภิฤดี กล่าวว่า BigPay มีข้อได้เปรียบ คือ การแชร์ทรัพยากรและทีมงานผู้เชี่ยวชาญภายในภูมิภาค ซึ่งทำให้องค์กรสามารถ Leverage ทีมงานระหว่างกรุ๊ป อีกทั้งยังทำให้ BigPay มีบิสิเนสโมเดลและการทำงานที่คล่องตัว โดยทีมงานในประเทศไทยจะเน้นไปที่ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายดูแลลูกค้า และทีมที่ดูแลด้าน KYC
นอกจากนี้หลักการทำให้ BigPay ลงสนามอย่างมั่นใจ คือ การรักษาสมดุลขององค์ประกอบรายได้และต้นทุน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการออกแบบบิสิเนสโมเดลตั้งแต่ Day 1 เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารระหว่างต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี การจัดสรรบุคลากร และการดำเนินการ
สำหรับแผนขยายบริการทางการเงินอื่นๆ ในอนาคต ผู้ใช้จะสามารถทำการโอนเงินภายในประเทศและต่างประเทศ การชำระเงินข้ามพรมแดน การจ่ายเงินที่ร้านค้าสะดวกผ่าน QR PromptPay รวมถึงชำระบิลค่าไฟ เติมเงินมือถือ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อย่างการลงทุนและสินเชื่อกู้ยืม เช่น สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว จากการพัฒนาความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์สถาบันการเงินในประเทศไทย ตลอดบริการอื่นๆ อีกมากมายหลังจากนี้ นางสาวอภิฤดี กล่าว
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney