ธุรกิจสินค้าฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) โดยเฉพาะในธุรกิจที่ทำบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องบอกว่า ปัจจุบันนี้ กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด และมีหนึ่งเจ้าที่กำลังเป็นที่จับตาของตลาดทั่วโลก อย่าง Shein แบรนด์สินค้าแฟชั่นจากจีนที่สามารถตีเจ้าตลาดโลก อย่าง H&M และ Zara ได้สำเร็จ นอกจากนี้ แบรนด์ Shein กำลังโลดแล่นอยู่ในตลาดสหราชอาณาจักร โดยมีแผนที่จะ IPO ในลอนดอนเร็วๆ นี้อีกด้วย
อย่างที่เราทราบกันดีว่า Shein มีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของตัวเอง ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเข้ามาสั่งซื้อสินค้า ชำระเงิน และรอสินค้าส่งถึงหน้าบ้านได้เลยทันที และตอนนี้ Shein ก็กำลังใช้ประโยชน์จากบริการนี้มาต่อยอดไปสู่อีกขั้น
จากรายงานข่าวที่เผยแพร่โดย CNBC ชี้ว่า Shein เตรียมแผนที่จะขายเทคโนโลยีจัดการซัพพลายเชนและบริการให้กับบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก โดย Shein กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและทดลองใช้งานซอฟต์แวร์ด้านโลจิสติกส์
ต้องยอมรับเลยว่า การจัดการซัพพลายเชนของ Shein ก็ดีไม่แพ้ธุรกิจรายใหญ่เจ้าอื่น โดยเป็นแบบ Hyper-Flexible Supply Chain คือ การจัดการซัพพลายเชนแบบยืดหยุ่นพิเศษ ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการในสินค้าแต่ละช่วงที่อาจจะมากน้อยไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ระบบซอฟต์แวร์ยังสามารถติดตามสต๊อกสินค้าได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
จากรายงานของ CNBC ปัจจุบัน Shein ใช้บริการโรงงานกว่า 5,400 แห่งในเมืองกว่างโจว เพื่อผลิตสินค้า โดยจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตน้อยแต่รวดเร็ว ใช้ต้นทุนน้อย และไม่ต้องใช้พื้นที่จัดเก็บสินค้าเยอะ ซึ่งแนวคิดการผลิตแบบนี้มาจาก Chris Xu ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน SEO และออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง อีกทั้งยังได้ใช้แนวทางขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Approach) เพื่อเร่งการเติบโตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของ Shein ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ในรายงาน ยังเปิดเผยอีกว่า จะมีการใช้งาน AI เพื่อมาจัดการกับ Data ในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์อีกด้วย ซึ่งตัว AI จะช่วยจับคู่ดีมานด์และซัพพลาย พร้อมกับคัดเลือกซัพพลายเออร์ (Suppliers) ที่เหมาะสม และช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้น ผ่านการตรวจสอบที่ครอบคลุมทั้งระบบซัพพลายเชนของ Shein
หากธุรกิจสนใจใช้งานระบบซอฟต์แวร์จัดการซัพพลายเชนของ Shein ก็เท่ากับว่า “ธุรกิจยินยอมที่จะให้ Shein เข้าถึงและควบคุมทั้งซัพพลายเชนของธุรกิจ” โดยในรายงานได้กล่าวว่า “Shein จะสามารถรับรู้ข้อมูลการผลิต แหล่งผลิต ไปจนถึงข้อมูลสินค้า ข้อมูลลูกค้า และข้อมูลผู้ติดตามบนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะรวมไปถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าด้วย”
ในแต่ละธุรกิจ ซัพพลายเชน มีความสำคัญอย่างมากทั้งในแง่ของกระบวนการทำงาน และการช่วยให้ธุรกิจเติบโต อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ “ต้องรักษาเป็นความลับ” เพื่อป้องกันไม่ให้คู่แข่งทางธุรกิจล่วงรู้ และนำเอาไปใช้ประโยชน์
Eric Fullerton ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนจาก Project44 กล่าวว่า “ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณคงจะไม่อยากเปิดเผยข้อมูลยอดขาย สต๊อกสินค้า และกลยุทธ์ธุรกิจให้คู่แข่งรับรู้อย่างแน่นอน”
นอกจากการเข้าถึงกลยุทธ์ต่างๆ ของธุรกิจแล้ว Shein จะสามารถทำเงินได้เพิ่มจากการขายเทคโนโลยีตัวนี้ และด้วยเครื่องมือ AI ที่มีการประยุกต์ใช้ลงไปในซอฟต์แวร์ จะช่วยให้ Shein สามารถนำโมเดลของธุรกิจอื่นมาวิเคราะห์ และออกแบบการตลาด การจัดการด้านโลจิสติกส์ รวมไปถึงซัพพลายเชนของตัวเองให้ดีขึ้นอีกด้วย
เป้าหมายใหม่ของ Shein ในการขยับธุรกิจตัวเองเข้าสู่วงการเทคโนโลยีนี้ ยังสร้างความกังวลให้กับองค์กรป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ออกมาเตือนว่า Shein อาจมีความใกล้ชิดกับจีน และอาจจะเข้ามาสอดแนมข้อมูลซัพพลายเชนในสหรัฐฯ
ถึงแม้ว่า Shein จะออกมายืนยันว่า ได้ถอยห่างออกจากจีน เมื่อปี 2022 ก็ได้มีการย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากจีนมาตั้งในสิงคโปร์ ด้วยเหตุผลด้านกฎหมายและการเงิน แต่ Shein ก็ยังใช้จีนเป็นฐานการผลิต และเป็นโกดังเก็บสินค้าอยู่เป็นหลัก
และอย่างที่ทราบกันดีว่า บริษัทภายในประเทศจีน จะต้องทำตามกฎระเบียบในการยื่นข้อมูลบริษัท ซึ่งเป็นข้อมูลละเอียดอ่อนให้กับรัฐบาล อย่างเช่น ข้อมูลลูกค้าชาวอเมริกัน และถึงแม้ว่า Shein จะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ แต่ข้อมูลซัพพลายเชนในจีนที่เป็นฐานการผลิตก็จะถูกรัฐบาลเจาะเข้าได้
จากข้อมูลทางสถิติ พบว่า ในปี 2023 ทาง Shein สามารถหารายได้ได้มากถึง 32,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 43% อีกทั้งยังมีลูกค้าที่ยังใช้งานในปัจจุบันอยู่กว่า 88 ล้านราย โดยเป็นลูกค้าชาวอเมริกันที่ประมาณ 17 ล้านราย นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน Shein ยังมีการดาวน์โหลดมากถึง 238 ล้านครั้งในปี 2023 ขึ้นแท่นเป็นแอปฯ สินค้าแฟชั่นที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในปีนั้น
นอกจากนี้ ทางสหรัฐอเมริกายังมีความกังวลในเรื่องของการใช้แรงงานของ Shein ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งขัดกับกฎหมายป้องกันแรงงานบังคับชาวอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act - UFLPA) โดยทางสหรัฐอเมริกาได้มีการแบนห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากเขตดังกล่าว เนื่องจากละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ ทาง Shein ได้มีการตระเตรียมที่จะยื่น IPO ในสหรัฐอเมริกา แต่แผนก็ต้องล้มอย่างไม่เป็นท่า เพราะถูกตรวจสอบและพบว่า Shein มีปัญหาด้านซัพพลายเชนและใช้ช่องโหว่ทางการค้าเข้ามาในสหรัฐฯ ซึ่งต่อมา Shein ก็ได้หันไปยื่น IPO เข้าสู่ตลาดลอนดอน ในสหราชอาณาจักรแทน
โดยทางการสหรัฐฯ ก็ได้มีการคุมเข้มและติดตามอย่างใกล้ชิดกับความสัมพันธ์ระหว่าง องค์กรธุรกิจ อย่าง Shein และ TikTok กับทางจีน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางไซเบอร์ และการล้วงข้อมูล
อ้างอิง : CNBC, Business of Apps
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney