จากรายงานของ สหประชาชาติ (United Nations: UN) พบว่า จีน เป็นประเทศที่มีการยื่นขอและถือครองสิทธิบัตรด้าน Generative AI มากที่สุด โดยมีการยื่นขอไปแล้วกว่า 38,000 รายการตั้งแต่ช่วง 2014 ถึง 2023
โดยจีน ถือครองสิทธิบัตรทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับ Generative AI อยู่ที่ 38,210 รายการ เป็นอันดับที่ 1 ของโลก ในขณะที่อันดับที่ 2 อย่างสหรัฐอเมริกา ถือครองอยู่ 6,276 รายการ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ที่ 4,155 รายการ ญี่ปุ่น 3,409 รายการ และอินเดีย 1,350 รายการ
สิทธิบัตร GenAI มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 6% ของการจดสิทธิบัตรด้าน AI ทั้งหมดทั่วโลก โดย 10 อันดับแรกของบริษัทที่มีการจดสิทธิบัตรด้านนี้มากที่สุด คือ
เมื่อปีที่ผ่านมา ทาง Alibaba และ Baidu ต่างเดินหน้ากันพัฒนาโมเดล LLM ของตัวเอง และเปิดตัวออกมาเพื่อแข่งกับตลาดสหรัฐอเมริกา ที่ถึงแม้ว่าจะมีการยื่นขอสิทธิบัตรน้อยกว่า แต่ผลิตภัณฑ์อย่าง ChatGPT ของ OpenAI ก็สามารถครองตลาดได้
นอกจากนี้ ทางการจีน ยังได้เปิด Action Plan กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ ชิป AI และ GenAI เป็นแผนเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
สำหรับประเภทของสิทธิบัตร GenAI ที่มีการยื่นขอมากที่สุด คือ ข้อมูลรูปภาพและวิดีโอ 17,996 รายการ ข้อความ (Text) 13,494 รายการ และเสียงพูดหรือเพลง 13,480 รายการ ขณะเดียวกัน การขอสิทธิบัตร GenAI ด้านข้อมูลโมเลกุล ยีน และโปรตีนเบส ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 มาเป็น 1,494 รายการแล้ว
การยื่นขอสิทธิบัตรของบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ นั้น ทางนักวิเคราะห์มองว่า ส่งผลดีต่อวงการ GenAI ทั้งในด้านของการกำกับดูแล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่อนาคต
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney