มาตรฐานใหม่การจ้างงาน ผู้บริหารในไทยกว่า 74%  ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะ AI

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

มาตรฐานใหม่การจ้างงาน ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะ AI

Date Time: 20 มิ.ย. 2567 10:38 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ไมโครซอฟท์ ร่วมกับ LinkedIn เจาะลึกภาพรวมตลาดแรงงานและพฤติกรรมการใช้ AI หลังโลกก้าวสู่ยุค AI โดยสมบูรณ์ ผ่านรายงาน Work Trend Index ฉบับปี 2024 พบ คนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงาน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 75%

Latest


Microsoft ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn เผยผลงานวิจัย Work Trend Index 2024 ความคืบหน้าของคนทำงานในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรม AI ได้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำงาน การบริหาร และการจ้างงานของผู้คนทั่วโลกอย่างไรบ้าง โดยการรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้มาจากการสำรวจพนักงานและผู้บริหารกว่า 31,000 คน ใน 31 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย) พร้อมด้วยแนวโน้มตลาดแรงงานและเทรนด์การจ้างงานผ่านทาง LinkedIn รวมถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านล้านรายการจากการใช้งาน Microsoft 365 และการศึกษาวิจัยลูกค้าของบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 

การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมประเทศ และเขตปกครองพิเศษต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดังนี้: ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

AI กลายเป็นมาตรฐานใหม่ด้านทักษะ และช่วยทำลายขีดจำกัดในสายอาชีพ 

แน่ชัดแล้วว่า Generative AI ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับเนื้องานที่เราทำ และส่งผลกระทบต่อทักษะที่จำเป็นในการก้าวสู่ความสำเร็จอีกด้วย  

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ปี 2024 ถือเป็นปีของ AI เพื่อการทำงานอย่างแท้จริง หลังจากที่มีพนักงานทั่วโลกนำ Generative AI มาใช้ทำงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้ใช้ LinkedIn จำนวนไม่น้อยได้นำเอาทักษะความสามารถด้าน AI มาเพิ่มเติมลงในเรซูเม่ของตนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ขณะเดียวกันทางด้านผู้บริหารพบว่าส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจะไม่จ้างผู้สมัครที่ไม่มีทักษะด้าน AI และยังคงกังวลเกี่ยวกับการขาดวิสัยทัศน์ด้าน AI ของบริษัท

Thairath Money สรุปประเด็นสำคัญจาก Work Trend Index 2024 ที่ฉายภาพผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานและตลาดแรงงานตลอดทั้งปีนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจบริบทและพิจารณาว่าตกลงแล้วเราจำเป็นต้องใช้ AI จริงหรือไม่

  • ผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66% และหากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่า แต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%
  • 91% ของผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าบริษัทของตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 79%
  • อย่างไรก็ตามยังมีผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% ที่มีความกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดแผนงานและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 60%
  • พนักงานต้องการนำนวัตกรรม AI มาช่วยในการทำงานโดยไม่รอให้บริษัทมีความพร้อม
  • ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงานจากช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่า จำนวนของสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่าตัว
  • ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทาง LinkedIn หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI ด้วย จะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%
  • ในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนา ระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟิกดีไซน์ และการตลาด
  • แนวโน้มการนำ AI มาใช้ในที่ทำงานนี้ยังอาจเป็นผลมาจากภาระงานที่พนักงานแต่ละคนต้องแบกรับ โดย 68% ของพนักงานทั่วโลกที่ใช้ AI ระบุว่าพวกเขาต้องเจอกับปัญหาในการทำงานจำนวนมากให้เสร็จทันเวลา ดังนั้น AI จึงเป็นตัวช่วยประหยัดเวลา เสริมความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทำให้มีเวลาจดจ่อกับเนื้องานในส่วนที่สำคัญที่สุดได้มากขึ้น
  • พนักงานคนไทยกว่า 92% นำนวัตกรรม AI มาใช้ในการทำงาน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยในกลุ่มผู้ใช้งาน AI ยังพบอีกว่า 81% เลือกนำเครื่องมือ AI ของตนเองมาใช้งาน จนเกิดเป็นกระแสที่เรียกได้ว่า Bring Your Own AI (BYOAI) นำโดยกลุ่ม Gen Z
  • กลุ่มพนักงานที่เป็น AI Power Users หรือผู้ใช้งาน AI ระดับสูง มักจะนำเครื่องมือและบริการ AI ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานในแต่ละวัน และสามารถลดเวลาที่ใช้ทำงานที่มีอยู่เดิมลงได้วันละ 30 นาที หรือเฉลี่ยออกมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อเดือน
  • ในประเทศไทย กว่า 86% ของพนักงานกลุ่มนี้เลือกที่จะเริ่มและจบวันทำงานด้วย AI
  • ในทางกลับกัน ผู้ใช้ AI ระดับสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ AI ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ เพียง 45% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ 68%
  • กลุ่ม AI Power Users ในไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่มีโอกาสได้ฟังเนื้อหาสาระหรือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการทำงานจากแผนกหรือฝ่ายที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40%
  • ขณะที่ด้านการเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้งาน AI ระดับสูงในประเทศไทยเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%
  • LinkedIn ระบุว่า คนทำงานในประเทศไทยต่างรับรู้ถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงนี้ และกำลังเดินหน้าเสริมทักษะที่ผู้บริหารและนายจ้างให้ความสำคัญ
  • ความแพร่หลายของทักษะด้าน AI ในประเทศไทย นับว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่แนวโน้มความสนใจที่จะพัฒนาทักษะในด้านนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างทวีคูณ
  • ทักษะที่ผู้ใช้งาน LinkedIn ในประเทศไทย เพิ่มเติมลงในโปรไฟล์ของตนเองมากที่สุด ได้แก่ การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) การบริหารความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนสีย (Stakeholder Management) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การใช้งาน AI (Artificial Intelligence) และการวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analysis)
  • LinkedIn ระบุว่า หลักสูตรที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นคอร์สทักษะด้าน Generative AI จาก LinkedIn Learning รวมไปถึงหลักสูตรซอฟต์สกิลอย่าง พื้นฐานการสื่อสาร (Communication Foundations) เทคนิคการแก้ไขปัญหา (Problem-Solving Techniques) และ การพูดอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ (Speaking Confidently and Effectively) 


ด้านมุมมองของผู้บริหาร หรือนายจ้างในประเทศไทย 

ในด้านแนวโน้มการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด

รายงานระบุถึงความท้าทายว่า ผู้บริหารหรือนายจ้างจำนวนไม่น้อยยังพบกับอุปสรรคในการประเมินผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ AI ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ผู้บริหารและองค์กรยังต้องก้าวผ่านไปให้ได้ นอกจากนี้การที่พนักงานนำเครื่องมือ AI ส่วนตัวมาใช้ในสถานที่ทำงานยังทำให้ผู้บริหารในหลายองค์กรจึงต้องเผชิญความยากลำบากกับการปรับตัว เมื่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ต้องเปลี่ยนผ่านจากช่วงการทดลองใช้งาน ไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ขณะเดียวกันสิ่งที่ยังคงต้องการให้พนักงานต้องมีทั้งทักษะอย่างสมดุลทั้งในด้านฮาร์ดสกิล (Hard Skill) และซอฟต์สกิล (Soft Skill) ซึ่งซอฟต์สกิลสำคัญที่ผู้บริหารต้องการ ได้แก่ การสื่อสาร (Communication) ทักษะการวิเคราะห์ (Analytical Skills) ภาวะผู้นำ (Leadership) และการแก้ปัญหา (Problem Solving)

นายธนวัฒน์ กล่าวเสริมว่า องค์กรจึงควรที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำ AI มาใช้ช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานของพนักงาน ขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้องคิดว่าควรทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรของเรา และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทำงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางการใช้งาน AI ในองค์กรเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นผลสำเร็จได้จริงในทุกตำแหน่งและสายงาน

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ