Philips ธุรกิจที่สร้างตัวจากการขายหลอดไฟ จนเป็นผู้นำนวัตกรรมการแพทย์ เริ่มต้นจากสวัสดิการพนักงาน

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Philips ธุรกิจที่สร้างตัวจากการขายหลอดไฟ จนเป็นผู้นำนวัตกรรมการแพทย์ เริ่มต้นจากสวัสดิการพนักงาน

Date Time: 12 เม.ย. 2567 17:18 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ย้อนเส้นทางธุรกิจของ Philips บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงาน สู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน จนเป็นบริษัทที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีสุขภาพอย่างเช่นในปัจจุบัน

Latest


Philips หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เจ้าดังจากฝั่งยุโรปที่เริ่มต้นจากการพัฒนาหลอดไฟสู่อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และก็ได้เปลี่ยนมาเอาดีด้านธุรกิจเทคโนโลยีสุขภาพในเวลาต่อมา

บทความนี้ Thairath Money จะพามาดูเส้นทางการดำเนินธุรกิจของ Philips ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดที่ต้องปรับตัวหาโอกาสในตลาดเทคโนโลยีและประสบความสำเร็จจนเป็นบริษัทผู้นำนวัตกรรมมาได้ยาวนานมากกว่า 130 ปี

Philips & Co ก่อตั้งขึ้นในปี 1891 ในประเทศเนเธอร์แลนด์โดย Frederik Philips และ Gerard Philips ผู้เป็นลูกชาย โดยเล็งเห็นถึงโอกาสในการนำไฟฟ้ามาสู่คนจำนวนมากผนวกกับความสนใจของ Gerard ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ทั้งคู่จึงได้เปิดตัว ‘หลอดไฟ’ ราคาคุ้มค่าและมีคุณภาพ

และอีก 4 ปีต่อมาก็ได้ Anton Philips ลูกชายอีกคนมาช่วยงานซึ่ง Anton นั้นมีทักษะในการค้าขายที่ดีจากประสบการณ์ทำงานในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1900 ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งขณะนั้น Philips เองก็ได้กลายมาเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ที่มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน และเน้นให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของพนักงานมาตั้งแต่สมัยนั้นจนปัจจุบัน

โดย Philips ถือเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ของเนเธอร์แลนด์ที่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อจ่ายเงินให้พนักงานถึง 70% หากจำเป็นต้องลาป่วย ทั้งยังมีสวัสดิการที่อยู่อาศัย การเข้าถึงการรักษาโดยให้บริการ 'Philips Medical Service' ให้พนักงานและครอบครัวพบหมอได้ฟรีรวมถึงให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ นับเป็นการวางรากฐานบริการดูแลสุขภาพในที่ทำงานให้กับประเทศเนเธอร์แลนด์และเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

พัฒนานวัตกรรมที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้

ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ก้าวหน้าขึ้นโดยมีแล็บวิจัยแห่งแรกที่ชื่อว่า ‘Philips Nat Lab’ และได้มีการพัฒนาหลอดรังสีเอกซ์ (X-ray tube) ที่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Philips กับบทบาทการมีส่วนร่วมในเทคโนโลยีสุขภาพนั่นเอง

กระทั่งในปี 1927 Philips ได้เปิดตัววิทยุเครื่องแรกจนกลายเป็นผู้ผลิตวิทยุรายใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา จากนั้นก็ตามมาด้วยการเปิดตัวเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าหัวกลมรุ่นบุกเบิกซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ด้วยการออกแบบที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและรูปลักษณ์ 

ทั้งยังเป็นรากฐานของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัว Philishave ออกมาในปี 1939 บริษัทก็สามารถขายเครื่องโกนหนวดได้จำนวนมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 700 เครื่องต่อชั่วโมง 

ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Philips Research ก็ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูในยุคหลังสงครามซึ่งรวมไปถึงนวัตกรรมแสงยูวีเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หลอดฟลูออเรสเซนต์ เครื่องช่วยฟัง เครื่องเล่นแผ่นเสียง ไปจนถึงการลดขนาดและปรับปรุงเทคโนโลยีในวิทยุและเครื่องโกนหนวดให้เข้ากับยุคสมัย และยังได้เปิดตัวโทรทัศน์เครื่องแรกที่เน้นตลาด Mass อีกด้วย

และในช่วงทศวรรษ 1960 ก็เป็นยุคที่ Philips ให้ความสำคัญกับการทำให้เทคโนโลยีของตัวเองนั้นเข้าถึงได้และได้เปิดตัว ‘เทปคาสเซ็ท’ (Compact Cassette) เพื่อตีตลาด Mass และก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในทันทีถือเป็นการสร้างมาตรฐานการบันทึกเทปในระดับสากล

จากนั้นก็ตามมาด้วยการเปิดตัวเครื่องเล่นวิดีโอ (VCR) ที่ทำให้ Philips กลายมาเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าที่นำเสนอ Consumer Product ไปจนถึงความสำเร็จครั้งสำคัญอย่างการเปิดตัวแผ่นซีดีที่พัฒนาร่วมกับ Sony

เปลี่ยนผ่านธุรกิจ กระโดดเข้าสู่เทคโนโลยีการแพทย์

แต่แล้วในปี 2009 Philips ก็ได้มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่และเลิกจ้างพนักงานหลายพันคนในทั่วโลกเพื่อลดต้นทุน และเข้าไปเล่นในตลาดเทคโนโลยีการแพทย์ในช่วงทศวรรษ 2010 ผ่านการนำของซีอีโอคนใหม่อย่าง Frans van Houten เพราะขณะนั้นบริษัทเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งจากเอเชียอย่าง LG Electronics และ Samsung จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้กลับมาได้อีกครั้ง

Philips จึงตัดสินใจลดการพึ่งพาตลาดสินค้าที่มีการแข่งขันสูงอย่างการขายเครื่องใช้ขนาดใหญ่ในครัวเรือนหรือทีวีแบบเดิมไปสู่เทคโนโลยีสุขภาพที่มีโอกาสในการทำเงินได้มากกว่า และได้ขายธุรกิจทีวีตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับเสียงและวิดีโอ 

ขณะเดียวกันก็ได้ทำการแยกหน่วยธุรกิจ Lighting ออกมา (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Signify) และยื่น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ Euronext Amsterdam ในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2016 รวมถึงเข้าซื้อกิจการ Australian Pharmacy Sleep Services (APSS) ผู้พัฒนาโปรแกรมวินิจฉัยและรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับเพื่อเข้าสู่สายงานเทคโนโลยีสุขภาพ

และปัจจุบัน Philips วางจุดยืนในฐานะบริษัทเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายมาพร้อมความตั้งใจที่จะพัฒนาชีวิตคนผ่านนวัตกรรม ซึ่งรายได้จากธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพของบริษัทก็คิดเป็น 42% ของรายได้จากการขายทั่วโลก

โดยในรายงานผลประกอบการตลอดทั้งปีที่ผ่านมา Philips มียอดขายอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านยูโร (หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท) โต 6% จากยอดขายปี 2022 โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน

ขณะที่ยอดขายแบ่งตามสัดส่วนได้เป็น Diagnosis & Treatment มีสัดส่วนยอดขาย 49% ที่ 8.8 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 3.4 แสนล้านบาท) Connected Care ยอดขาย 5.1 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท) Personal Health ยอดขาย 3.6 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) และธุกิจอื่นๆ ยอดขาย 612 ล้านยูโร (หรือประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท)

อ้างอิง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ