ทำไม Xiaomi ในตลาดรถ EV ถึงน่าจับตา? เจาะกลยุทธ์รุกตลาดพรีเมียมเทียบชั้น Tesla และ Porsche

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำไม Xiaomi ในตลาดรถ EV ถึงน่าจับตา? เจาะกลยุทธ์รุกตลาดพรีเมียมเทียบชั้น Tesla และ Porsche

Date Time: 7 เม.ย. 2567 10:19 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • Xiaomi บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากจีน เปิดตัว ‘SU7’ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก เดิมพันตลาด EV พร้อมสู้ศึกอันดุเดือดด้วยรูปลักษณ์และสมรรถนะเทียบชั้นซูเปอร์คาร์สหรัฐฯ

Latest


“การเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ของ Xiaomi คือก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน”

เป็นที่ฮือฮาอีกครั้งกับวงการยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Lei Jun ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Xiaomi กล่าวอย่างเชื่อมั่นด้วยตัวเลขลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3.6 แสนล้านบาท พร้อมด้วยตัวเลขคำสั่งซื้อที่มีเข้ามามากกว่า 90,000 คัน ภายใน 24 ชั่วโมงแรกนับตั้งแต่เริ่มขาย หลังจากการเปิดตัว ‘SU7’ รถยนต์ไฟฟ้าทรงสปอร์ตซีดานรุ่นแรกอย่างเป็นทางการ ในราคาเปิดตัวที่จั่วหัวว่าถูกกว่า Tesla Model 3 

ล่าสุด Xiaomi เริ่มต้นส่งมอบลอตแรกเมื่อเดือนเมษายน ท่ามกลางกระแสบวกจากผู้บริโภคและนักลงทุน ด้วยหุ้น Xiaomi ที่พุ่งขึ้นถึง 16% สวนทางกับอีกเจ้าที่เพิ่งประกาศยุติความพยายามในการรุกตลาดนี้ ดับฝันโปรเจกต์ Apple Car ถาวร เพราะแน่ชัดว่า Apple ไม่สามารถรับมือกับตลาด EV ได้ดีนัก ทำให้ความเคลื่อนไหวของ Xiaomi ในตลาด EV ที่เรียกได้ว่าน้ำเชี่ยวกรากนั้นน่าสนใจ ท้าทาย และมีความโดดเด่นต่างจากผู้ผลิตจีนรายอื่นที่มุ่งตรงไปที่การหั่นราคาสุดโหด  

แน่นอนว่า Xiaomi อาจไม่ต่างจากผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ หรือบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่นที่รายได้หลักๆ มาจากโปรดักต์เรือธงที่เป็นยอดนิยม อย่าง Xiaomi เองรายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากโทรศัพท์มือถือถึง 70% โดยรายได้จากเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ มีสัดส่วนไม่ถึง 30% ไม่ต่างจากเจ้าอื่นที่เป็นผู้เล่นในตลาดสมาร์ทโฟนโดยตรงอย่าง Apple และ Huawei  

ฉะนั้นการขยายน่านน้ำของ Xiaomi ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อค้นหาแหล่งทำเงินมากกว่าหนึ่งด้าน จึงเป็นเรื่องที่ตามเหตุและผลทางธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ที่โตเป็น 10 เท่าของธุรกิจสมาร์ทโฟน   

Xiaomi SU7 ชูตลาดพรีเมียม นำเสนอเทคโนโลยีและจุดแข็งด้านอีโคซิสเต็ม


แม้ปัจจุบันคลื่นการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะท่วมตลาดต่างประเทศ Xiaomi กลับวางตำแหน่งให้ SU7 เป็น ‘เรือธงใหม่’ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายใหญ่ในการเป็น “หนึ่งในห้าผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกให้ได้ภายใน 15- 20 ปีหลังจากนี้”  

โดย SU7 มาพร้อมกับสองรุ่นย่อย ได้แก่ SU7 Standard และตัวชูโรง SU7 Max ที่สามารถทำความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายใน 2.78 วินาที ความจุแบต 101 kWh วิ่งได้ไกลสูงสุด 800 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง โดย SU7 Max ยังมีเป้าหมายให้เป็นรุ่นที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดพรีเมียม โดยถูกวางหมากให้ท้าชิงกับ Porche Taycan Turbo อีกด้วย 

แม้เขาเปิดเผยถึงมุมมองด้านเสนอเทคโนโลยี (Core Automotive Technologies) ที่เป็นตัวชูโรงของยานยนต์ แต่ในฐานะหน้าใหม่ในสนาม ว่าตนยังคงต้องใช้เวลาในการไล่ตามเทคโนโลยีตะวันตกให้ทันภายในสามถึงห้าปี เรียกได้ว่าไม่ได้เป็นเวลาที่นานนักในการไล่ตามให้ทันในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนากันอย่างรวดเร็ว 

ด้านบรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า Xiaomi SU7 มาแรงเกินคาด โดยมีการคาดการณ์ว่าคำสั่งซื้ออาจสูงถึง 100,000 คันในปีนี้ ทำให้ Xiaomi ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นว่าจะสามารถผลิตและส่งมอบยานพาหนะได้เร็วแค่ไหน เพราะขนาดผู้นำตลาดอย่าง Tesla เองยังเผชิญกับปัญหาด้านห่วงโซ่การผลิต อย่างไรก็ตาม SU7 จะขายผู้บริโภคในจีนก่อนอย่างน้อยสองถึงสามปี ค่อยเริ่มต้นขยายสู่ตลาดต่างประเทศ 

Lei Jun นำเสนอถึง ‘กลยุทธ์ในการเจาะตลาดพรีเมียม’ ไว้อย่างแยบคายว่า Xiaomi ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 และประสบความสำเร็จเป็นเบอร์ต้นๆ ในฐานะแบรนด์สมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในราคาที่เอื้อมถึงได้ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Xiaomi เริ่มปรับทิศทางเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟน รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับไฮเอนด์ เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มพรีเมียม ซึ่งปัจจุบันเขากล่าวว่า Xiaomi กินสัดส่วนตลาดสมาร์ทโฟนอยู่ในอันดับที่สาม รองจาก iPhone และ Samsung และมีผู้ใช้ในกลุ่มราคาพรีเมียมดังกล่าวนี้แล้วประมาณ 20 ล้านคน และนี่คือผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะสนใจซื้อ SU7 

“Human x Car x Home” นิยามใหม่อุตสาหกรรมยานยนต์

นอกจากนี้นักวิเคราะห์กล่าวถึงมุมมองที่น่าสนใจว่า จุดแข็งของ Xiaomi คือฐานลูกค้าที่ผูกพันและคุ้นชินกับอีโคซิสเต็มของอุปกรณ์ Xiaomi จะเป็นกำลังสำคัญที่มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยี

พูดง่ายๆ ก็คือบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและระบบปฏิบัติการของตนเอง มีความได้เปรียบกว่าผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมในแง่ของการเชื่อมต่ออีโคซิสเต็มไร้รอยต่ออย่างไม่ต้องสงสัย

สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ของ Xiaomi ที่มองว่ายานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต จะมีการบูรณาการการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเข้ากับซอฟต์แวร์อัจฉริยะ หรือมีการผสมผสานวิทยาการด้านยานยนต์เข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนด้วยระบบนิเวศปฏิบัติการ ซึ่งนี่คือ ‘ภูมิทัศน์ใหม่ทางเทคโนโลยี’  

โดย Lei Jun กล่าวว่า เทคโนโลยีของ SU7 จะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “Human x Car x Home” ระบบนิเวศอัจฉริยะที่จะเชื่อมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ระบบปฏิบัติการ HyperOS แบบใหม่ ที่จะเชื่อมโยงระบบโปรไฟล์และข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน 

การเปิดตัว SU7 ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ให้โลกได้ยลโฉมตัวรถ แต่ Xiaomi ได้เผยให้การลงทุนวิจัยพัฒนา การลงทุนในบุคลากรชั้นแนวหน้ามาร่วมทัพ พร้อมทั้งความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซุ่มพัฒนามาตลอด 13 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง เช่น E-Motor, ระบบ Battery, Xiaomi Hyper Die-Casting, Smart Cabin และระบบขับขี่อัตโนมัติ Xiaomi Pilot Autonomous Driving สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการสั่งสมเทคโนโลยีตลอด 13 ปีของ Xiaomi นับตั้งแต่ก่อตั้ง 

อ้างอิง XiaomiBloombergFinancial TimesCNBC 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์