Grab เปิดแผนปี 67 โฟกัสนักท่องเที่ยว-ลูกค้าประจำ เพิ่มบาลานซ์ ส่งบริการ ‘SAVER’ เอาใจสายประหยัด

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Grab เปิดแผนปี 67 โฟกัสนักท่องเที่ยว-ลูกค้าประจำ เพิ่มบาลานซ์ ส่งบริการ ‘SAVER’ เอาใจสายประหยัด

Date Time: 26 มี.ค. 2567 19:07 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • แกร็บ ประเทศไทย ประกาศความสำเร็จปี 2566 ตอกย้ำความเป็นผู้นำซุปเปอร์แอปในตลาดเรียกรถและเดลิเวอรี เร่งเครื่องรุกธุรกิจเต็มสูบโดยชูไฮไลต์ “4A” มุ่งรักษาฐานลูกค้าหลัก (Active Users) ผุดบริการใหม่ที่เน้นความคุ้มค่า (Affordability) ใช้เทคโนโลยีเอไอเสริมแกร่ง (AI Technology) โหมธุรกิจโฆษณา-บริการใหม่ (Ads & New Services) พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

Latest


แกร็บ ประเทศไทย (Grab) ประกาศความสำเร็จการดำเนินงานปี 2566 ผลประกอบการทำกำไรโตต่อเนื่องเป็นปีที่สอง จากจุดแข็งของบริการที่ครบวงจรพร้อมฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจเน้นระยะยาวจนเป็นแพลตฟอร์มเดียวในไทยที่ทำกำไร

อีกหนึ่ง ‘ปีทอง’ ของ แกร็บ ประเทศไทย 

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า ปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของ แกร็บ ประเทศไทย ภายหลังจากการประกาศนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยผลประกอบการทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และความสำเร็จ จากการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ตลอดจนโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน

โดยในปีที่ผ่านมา Grab ระบุว่าได้ช่วยให้พาร์ตเนอร์คนขับมีรายได้ต่อเดือนสูงขึ้นถึง 10% นอกจากนี้ยังมียอดการใช้บริการเรียกรถในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตขึ้นถึง 139% เพิ่มขึ้น 1.4 เท่าจากปีก่อนหน้าเป็นผลจากนโยบายเปิดประเทศ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล

ขณะที่ธุรกิจเดลิเวอรียังคงแข็งแกร่งได้รับความไว้วางใจมากเป็นอันดับ 1 โดยบริการ GrabFood และ GrabMart ยังคงครองใจผู้ใช้บริการยุคใหม่ รับสัญญาณเชิงบวกเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีแนวโน้มโตดีด้วยมูลค่า 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเรียกรถผ่านแอปฯ และฟู้ดเดลิเวอรีที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 15% ภายในปี 2568

ในส่วนของบริการทางการเงินในปีที่ผ่านมา Grab ได้ปล่อยสินเชื่อให้ร้านค้าและไรเดอร์ไปมากกว่า 1 แสนราย วงเงินตั้งแต่ 5,000-500,000 บาท และได้เพิ่มช่องทางการชำระเงินสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านความร่วมมือกับ Alipay และ Kakao Pay พร้อมขยายฐานผู้ใช้บริการในต่างจังหวัดผ่านการผนึกพันธมิตรกับธนาคารกรุงไทย

สุดท้ายคือธุรกิจ Enterprise ซึ่งจะเน้นไปที่ธุรกิจโฆษณาและ B2B โดย ‘GrabAds’ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากธุรกิจชั้นนำหลายรายด้วยจุดแข็งจากข้อมูลลูกค้าในแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์กับผู้โฆษณา ขณะที่ ‘Grab for Business’ มีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 1,200 บริษัทในระยะเวลาเพียง 1 ปี

4 กลยุทธ์หลักของ Grab ในปี 2567 

พร้อมกันนี้ Grab ยังได้เปิดแผนธุรกิจเดินหน้าสร้างการเติบโตโดยในปี 2567 นี้จะเน้นให้ความสำคัญ 4 ประเด็นหลัก (4A) ประกอบไปด้วย

1. Active User 

รักษาคุณภาพในทุกบริการเน้นดึงดูดลูกค้า ‘High Quality’ ที่มีกำลังจ่ายสูงและจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแรง ได้แก่ 1.นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.สมาชิกแพ็กเกจ GrabUnlimited และ 3.ลูกค้าคุณภาพที่ใช้บริการเป็นประจำ (Quality User) ผ่านความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวตลอดจนยกระดับความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการเดินทาง 

และเตรียมเปิดตัวแพ็กเกจสมาชิกแบบรายปีเพื่อรักษาฐานลูกค้าในระยะยาวสำหรับลูกค้าสมาชิก “GrabUnlimited” ซึ่งในปีที่ผ่านมาช่วยลูกค้าประหยัดไปได้ถึง 4 พันล้านบาท ตลอดจนพัฒนาแฟล็กชิพแบรนด์ของบริการ GrabFood อย่าง #GrabThumbsUp และ Only at Grab เพื่อรักษามาตรฐานและสร้างประสบการณ์ความอร่อยให้กับผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

2. Affordability

แม้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจะรับค่าบริการในแพลตฟอร์มได้แต่ยังมีลูกค้าชาวไทยอีกกว่า 62% ที่ยังมีความกังวลในเรื่องค่าครองชีพและมองว่าบริการของ Grab มีราคาสูงเกินไป ดังนั้น Grab จึงได้นำเสนอทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการและเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าที่เน้นในเรื่องความคุ้มค่าและราคาเป็นหลัก 

โดยเปิดตัวบริการ “GrabCar SAVER” สำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ขนาดเล็กในราคาประหยัดลงสูงสุด 15% เมื่อเทียบกับบริการ GrabCar ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มทดลองให้บริการแล้วใน 20 จังหวัด และบริการ “GrabBike SAVER” สำหรับการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ในระยะทางไม่เกิน 4 กิโลเมตรในราคาเริ่มต้นที่ 26 บาท และทางเลือกในการจัดส่งอาหารแบบประหยัดอย่าง “SAVER Delivery”

3. AI Technology

ในปีที่ผ่านมา Grab ได้พัฒนาเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มากกว่า 1,000 โมเดล และในปีนี้แกร็บประเทศไทยยังคงนำเทคโนโลยีมาใช้ต่อยอดเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงพาร์ตเนอร์คนขับและร้านค้า 

อย่างเช่นการนำ AI และ ML มาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบพิจารณาเครดิตสำหรับการให้สินเชื่อกับพาร์ตเนอร์ หรือการพัฒนา “GrabGPT” เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำคอนเทนต์ หรืองานออกแบบภายในองค์กร 

4. Ads & New Services

ในปีนี้ Grab เตรียมขยายบริการ “GrabAds” เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโฆษณา โดยนอกจากการเจาะตลาดลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สินค้าสุขภาพ-ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเตรียมผลักดัน “Self-serve Ads” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการโฆษณาสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านค้า ที่ช่วยเพิ่มออร์เดอร์ให้ร้านเล็กได้กว่า 40% และมีผลตอบแทนจากการโฆษณา (Return on Ad Spend) เฉลี่ยสูงถึง 6 เท่า 

นอกจากนี้ Grab ยังมีแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงบริการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรียกรถและเดลิเวอรี อาทิ บริการจองการเดินทางล่วงหน้า (Advance Booking) และบริการกินที่ร้าน (Dine-in) สำหรับร้านที่ไม่ร่วมบริการเดลิเวอรี

และในตอนท้าย วรฉัตร ได้กล่าวเสริมว่า นอกจากการพัฒนาในด้านธุรกิจแล้วในปีนี้ Grab ยังเดินหน้าสานต่อโครงการสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ GrabEV เพื่อผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มพาร์ตเนอร์คนขับให้ได้ 10% ภายในปี 2569 

และโครงการ Carbon Offset ที่ยังคงร่วมปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอนจากการใช้บริการ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะทำได้สองเท่าจากจำนวน 5 หมื่นต้นในปีก่อนหน้า รวมถึงพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์คนขับและร้านค้าเพื่อเป้าหมายในการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์