Thairath Money พาย้อนรอย Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนที่อยู่มากว่า 25 ปี และครั้งหนึ่งเคยขึ้นแท่นบริษัทเทครายแรกจากเอเชียที่มีมูลค่าทะลุ 5 แสนล้านดอลลาร์ ว่าปัจจุบันบิ๊กเทคเจ้านี้จะมีรายได้จากธุรกิจอะไรบ้าง
Tencent ก่อตั้งในปี 1998 โดย Ma Huateng (หรือ Pony Ma) ประธานและซีอีโอคนปัจจุบัน และเปิดตัวด้วยผลิตภัณฑ์แรกคือ “QQ” โปรแกรมรับส่งข้อความที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตา และหลังจากนั้นก็ได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดตัว QQ.com ที่มีหน้าเว็บคล้ายกับ Yahoo ที่เป็นช่องทางติดตามข่าวสารและข้อมูลต่างๆ
รวมไปถึง QZone โซเชียลเน็ตเวิร์กยอดฮิตที่ครั้งหนึ่งเคยมียอดลงทะเบียนเข้าใช้งานมากกว่าวันละ 1 พันล้านครั้ง และกลายเป็นชุมชนออนไลน์ภาษาจีนที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ Tencent ยังเคยมีเว็บไซต์ E-commerce เป็นของตัวเองที่ชื่อว่า “PaiPai” ซึ่งภายหลังก็ขายให้กับ JD
และต่อมาในปี 2009 Tencent ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือพร้อมไปกับการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟนโดยในปี 2011 ได้เป็นจุดเริ่มต้นของ “WeChat” แอปพลิเคชันรับส่งข้อความที่ปัจจุบันขึ้นแท่นซุปเปอร์แอปครอบจักรวาลและเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายแอปฯ ด้วย
นอกจากจะเปิดตัว WeChat แล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง Tencent ก็ได้เข้าไปถือหุ้นส่วนใหญ่ใน Riot Games ผู้พัฒนาเกมดังอย่าง ‘League of Legends’ มูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) และปิดดีลเข้าซื้อในอีก 4 ปีต่อมา
และยังมีการลงทุนในบริษัทเกมอื่นๆ อย่างเช่น Activision Blizzard, Glu Mobile และ Epic Games เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอเกมจากต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจเกมก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำรายได้ให้กับบริษัท พร้อมกับการขยายธุรกิจรุกตลาดฟินเทคผ่าน ‘WeChat Pay’ ตลอดจนแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์อย่างเช่น Tencent Music ที่ได้ Spin-Off และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (NYSE)
ซึ่งในปี 2017 Tencent ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเทครายแรกของเอเชียที่มีมูลค่าบริษัททะลุ 5 แสนล้านดอลลาร์ และแซงหน้า Facebook ไปด้วยมูลค่าบริษัท 5.3 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 19.1 ล้านล้านบาท) ขณะที่ช่วงเวลานั้น Facebook มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 5.1 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 18.4 ล้านล้านบาท)
และในปัจจุบัน Tencent มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 12.6 ล้านล้านบาท) ต่ำกว่า Meta บริษัทแม่ของ Facebook ซึ่งมีมูลค่าบริษัท 1.23 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 44.4 ล้านล้านบาท)
Tencent ได้แบ่งสัดส่วนรายได้บริษัทออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย
ทั้งนี้ Tencent ได้รายงานผลประกอบการปี 2022 โดยมีรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 5.54 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 2.80 ล้านล้านบาท) ลดลงจากปี 2021 ที่ทำได้ 5.60 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 2.83 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัท หลังธุรกิจเกมถูกทางการจีนสกัดก่อนจะผ่อนคลายลงในปีถัดมา
โดยผลประกอบการของปี 2022 Tencent มีรายได้จาก VAS ที่ 2.8 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 52% ขณะที่รายได้จากกลุ่ม Fintech and Business Service นั้นอยู่ที่ 1.7 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 8.9 แสนล้านบาท) ตามมาด้วย Online Advertising ที่ 8.2 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 4.2 แสนล้านบาท) และรายได้อื่นๆ อีก 7.1 พันล้านหยวน (หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท)
และในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Tencent ก็ได้เปิดผลประกอบการไตรมาส 3/2023 สิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023 ซึ่งเป็นรายงานผลประกอบการตัวล่าสุด โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.5 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 7.8 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยในรายงานผลประกอบการไตรมาสดังกล่าว Pony Ma ระบุว่าบริษัทมีการเติบโตของรายได้ที่ดีและมั่นคง พร้อมระบุถึงการเพิ่มการลงทุนในโมเดล AI ด้วยความตั้งใจที่จะใช้ความโดดเด่นในด้าน AI ไม่ใช่เพียงแค่เร่งการเติบโตแต่ยังมุ่งหวังว่าจะเป็นผู้ส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าองค์กรและสังคมโดยรวม
อ้างอิง
Tencent (1), (2), Investor Insights Asia, Financial Times
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney