5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2024 แพลตฟอร์มไหนมาแรง คนขายของออนไลน์ต้องจับตา

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2024 แพลตฟอร์มไหนมาแรง คนขายของออนไลน์ต้องจับตา

Date Time: 26 ม.ค. 2567 17:15 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • Priceza แพลตฟอร์มค้นหาและเปรียบเทียบราคาสินค้าเปิดข้อมูล 5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2024 ตลาดอีคอมเมิร์ซแข่งเดือดกว่าเดิม

Latest


ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza แพลตฟอร์มค้นหาและเปรียบเทียบราคาสินค้าเผยข้อมูลคาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ของปี 2024 จะเพิ่มขึ้น 16% จากปี 2023 ที่ผ่านมา

โดยคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.11 ล้านล้านบาท) สูงกว่ามูลค่าตลาดปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 1.72 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 6.14 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ไทย

และเมื่อเจาะลึกลงไปเป็นรายประเทศจะพบว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยนั้นมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคโดยมีการคาดการณ์มูลค่าตลาดปี 2023 ว่าอยู่ที่ประมาณ 9.8 แสนล้านบาท เป็นรองจากเพียงแค่อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากที่สุด

5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซจาก Priceza

นอกจากนี้ Priceza ได้สรุป “5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2024” ที่น่าจับตา เริ่มจาก เทรนด์แรกที่สมรภูมิตลาดอีคอมเมิร์ซจะแข่งขันกันดุเดือดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2023 ยอดขายกว่า 55% นั้นมาจากช่องทาง ‘Marketplace’ โดยมี Shopee กินสัดส่วนมากสุด (29%) ตามมาด้วย Lazada (11%) Tokopedia จากอินโดนีเซีย (9%) และเจ้าอื่นอีก 6%

ขณะที่การซื้อขายผ่านช่องทาง ‘Social Commerce’ นั้นมียอดขายรองลงมาที่ 28% แต่เป็นที่น่าสนใจว่ากว่า 9% เป็นการขายผ่านทาง TikTok ที่แม้จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่หากเทียบกับ Facebook และ IG แต่ได้รับการตอบรับที่ดีด้วยการผสานความสนุกเข้ากับการขายได้อย่างลงตัว

ตามมาด้วยฝั่ง ‘Grocery’ อย่างเช่น Grab, LINE MAN, Robinhood และ Foodpanda มีสัดส่วนยอดขายในตลาดอีคอมเมิร์ซ 11% และอีก 6% เป็นสัดส่วนจากการซื้อผ่าน ‘ช่องทางตรงของแบรนด์’ 

เทรนด์ที่สอง คือ Content และ Commerce จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันโดยอินฟลูเอนเซอร์ที่ขายของได้จะเป็นที่ต้องการ เทรนด์ต่อมา Priceza สรุปว่าเส้นทางสายไหมใหม่จะเชื่อมต่ออีคอมเมิร์ซไทยและจีนเข้าไว้ด้วยกันและจะมีผู้เล่นจากจีนเข้ามาตีตลาดไทย

เทรนด์ที่สี่ ค้าปลีกยุคใหม่จะเติบโต Omnichannel ที่ผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้า และเทรนด์สุดท้ายต้นทุนโฆษณาออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง การโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้าปลีก หรือ Retail Media จะเติบโตส่งผลให้ร้านค้าปลีกเป็นมากกว่าพื้นที่ซื้อสินค้าแต่ยังเป็นพื้นที่โฆษณาที่มีประสิทธิภาพด้วย

มุมมองความท้าทายจาก SCB EIC

ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดค้าปลีกปี 2024 จะโตต่อเนื่องเป็นผลจากการบริโภคที่ขยายตัว การเติบโตเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 5-7% เป็นผลมาจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดจนการเข้ามาของนักท่องเที่ยว

สำหรับความท้าทายในตลาดค้าปลีกปี 2024 ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ SCB EIC ระบุว่ามาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1. ราคาสินค้าที่ยังคงสูงฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค 2. ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ทาง SCB EIC ยังได้รายงาน 7 เทรนด์ปี 2024 ในตลาดอีคอมเมิร์ซ ได้แก่

  1. Social Commerce - ผลสำรวจจาก Global Social Media Statistics พบว่าคนจะใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเฉลี่ย 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งผู้ค้าสามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น
  2. Authenticity - ผู้บริโภคต้องการความน่าเชื่อถือของสินค้าและบริการตลอดจนขั้นตอนการชำระเงินท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของกลุ่มมิจฉาชีพ
  3. Direct Customer Service - ผู้บริโภคต้องการสื่อสารกับร้านค้าโดยตรงมากขึ้น ร้านค้าจึงควรใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารแบบเรียลไทม์ตอบความต้องการของลูกค้า
  4. Predictive Personalization - ผู้ค้าควรต้องคาดการณ์ความชอบและความต้องการของลูกค้า เพื่อเป็นโอกาสในการเติบโต
  5. Sustainable Packaging - SCB EIC ได้ทำการสำรวจ ‘สินค้ายั่งยืนที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ’ พบว่าอันดับหนึ่งคือสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือสามารถรีไซเคิลได้
  6. Cross-selling - นอกจากจะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำแล้ว ร้านค้าควรมีแนวทางกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าในหลายหมวดหมู่
  7. AI Optimization - AI และระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทในตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการช่วยประหยัดเวลา วางกลยุทธ์ที่ตรงกับความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ SCB EIC ยังได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคแบ่งตามช่วงวัย พบว่าช่องทางยอดนิยมของคนทุกช่วงวัยในการซื้อสินค้าออนไลน์ยังคงเป็น Marketplace อย่าง Shopee Lazada ขณะเดียวกันกลุ่ม Gen Z ก็นิยมซื้อของผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับ Marketplace ขณะที่กลุ่ม Baby Boomer นิยมซื้อของออนไลน์จากช่องทางของแบรนด์โดยตรงเนื่องจากมี Brand Loyalty สูง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์