Krungthai COMPASS ระบุ แม้ปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าในไทยมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 4,628 หัวชาร์จ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากนี้ โดยมีการประเมินว่า ยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 1.01 แสนคันในปี 2566 เป็น 1.29 ล้านคันในปี 2573 ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,482 สถานี ซึ่งมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 4,628 หัวชาร์จ (ข้อมูล ณ 22 พ.ค. 2566) แบ่งเป็นเครื่องอัดประจุแบบ AC Normal Charge (AC) ทั้งหมด 2,833 หัวชาร์จ และส่วนที่เหลืออีก 1,795 หัวชาร์จ เป็นเครื่องอัดประจุแบบเร็ว (Fast Charger) จะกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกเป็นหลัก ซึ่งคิดสัดส่วนราว 41% และ 24% ของจำนวนสถานีทั้งหมด ตามลำดับ
โดยปี 2573 มีการประเมินว่า ยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 1.01 แสนคันในปี 2566 เป็น 1.29 ล้านคันในปี 2573 และคาดว่าสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของ BMI Research ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของ Fitch Group Company โดยมีปัจจัยหนุน ดังนี้
1. ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะออกนโยบายสนับสนุน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ทั้งเงินอุดหนุนในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และลดภาษีสรรพสามิตของยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2567-70 ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ต้นทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทยลดลง จึงมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วงเวลาดังกล่าว
2. ต้นทุนการใช้งาน (Cost of Ownership) ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มีแนวโน้มลดลง ตามต้นทุนดังกล่าวโดยเฉลี่ยของอาเซียนที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียน หรือ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) คาดว่าจะลดลงจาก 144,500 บาท/ปี ในปี 2563 จนเหลือเพียง 99,580 บาท/ปี ในปี 2573 ซึ่งต่ำกว่ายานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่จะอยู่ราว 109,000 บาท/ปี เนื่องจากต้นทุนแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และต้นทุนการผลิตที่จะลดลงตามปริมาณการผลิต จึงมีแนวโน้มที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ดังกล่าวมากขึ้นในอนาคต
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปัจจุบันภูมิภาคของประเทศไทยส่วนใหญ่ มีสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าเพียงพอ แต่ยังมีบางภูมิภาคที่ขาด ได้แก่ ภาคเหนือและภาคใต้ และไทยจำเป็นต้องเพิ่มสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้บริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะแบบ Fast Charger ซึ่งเป็นรูปแบบที่ภาครัฐส่งเสริมให้ติดตั้งและตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทย
โดยมีการประเมินว่าต้องขยาย Fast Charger ให้ได้ 10,294 หัวชาร์จ หรือ 5,147 เครื่องจากปัจจุบัน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของภาครัฐที่จะเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าดังกล่าวอีก 10,205 หัวชาร์จ จากปัจจุบันภายในปี 2573
การประเมินในครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของแต่ละภูมิภาค จะเติบโตตามสัดส่วนของยอดจดทะเบียนสะสมรถยนต์ทั้งหมดของภูมิภาคเหล่านั้น
โดยการเพิ่มจะต้องเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลราว 5,028 หัวชาร์จ (2,514 เครื่อง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ราว 1,410 หัวชาร์จ (705 เครื่อง) ภาคใต้ราว 1,076 หัวชาร์จ (538 เครื่อง) ภาคกลางราว 1,030 หัวชาร์จ (515 เครื่อง) ภาคเหนือราว 876 หัวชาร์จ (438 เครื่อง) ภาคตะวันออกราว 502 หัวชาร์จ (251 เครื่อง) และภาคตะวันตกราว 372 หัวชาร์จ (186 เครื่อง)
นอกจากนี้จังหวัดที่ควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้บริการในปี 2573 เป็นจังหวัดที่ขาดเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในการให้บริการจำนวนมากในปีดังกล่าว เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา ขอนแก่น และอุบลราชธานี โดยควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทุกๆ ไม่เกิน 160 กิโลเมตร เนื่องจากระยะดังกล่าวเป็นระยะในการขับขี่ที่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยมีแนวโน้มที่จะใช้บริการอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนมาก และยังมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าไม่มากนัก เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เชียงราย และสมุทรสงคราม
ตามการประเมินข้างต้นตามความต้องการใช้บริการในปี 2573 คาดว่าจะก่อให้เกิด เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าประมาณ 1.17 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รายได้รวมของธุรกิจการให้บริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านบาท ในปี 2565 เป็น 11,100 ล้านบาท ในปี 2573 ภายใต้สมมติฐานที่ว่าสัดส่วนของผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอยู่ราว 40% ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนดังกล่าวของทั่วโลก ยกเว้นจีน
Krungthai COMPASS ระบุว่า กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะได้รับอานิสงส์จากการขยายการลงทุน ทั้งหมดราว 13,360 ล้านบาท โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด นั่นคือกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะได้รับรายได้ในส่วนนี้ราว 8.55 พันล้านบาท โดยสามารถแบ่งธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่