แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ตกเทรนด์ เปิดตัว EV ลงแข่งค่ายรถยนต์ ราคาเริ่มต้นหลัก 1-2 ล้านบาท

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ตกเทรนด์ เปิดตัว EV ลงแข่งค่ายรถยนต์ ราคาเริ่มต้นหลัก 1-2 ล้านบาท

Date Time: 5 ธ.ค. 2566 09:02 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • Thairath Money รวบรวมโฉมหน้ารถ EV ที่บรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้พัฒนา และได้ทยอยเปิดตัวในปีนี้ พร้อมรุ่น และสเปกที่น่าสนใจ

Latest


ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เนื้อหอมที่สุดในขณะนี้ ซึ่งหันกลับมามองในประเทศไทยเอง ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เริ่มพบเห็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเต็มท้องถนน ครอบคลุมไปถึงการแพร่หลายของอุปกรณ์พื้นฐาน และเทคโนโลยีแวดล้อมที่จำเป็นในการใช้งานรถ EV 

โดยอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาของรถ EV ก้าวล้ำ และดูเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นั่นก็คือ การเข้ามาของผู้แข่งขันหน้าใหม่ๆ ในสนามยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผู้เล่นบางคนนี้กลับไม่ได้เป็น ‘ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิม’ แต่อย่างใด แต่พวกเขาคือ บรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตโทรศัพเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าแก่ ตลอดจนผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่ที่ต่างกระโจนเข้าหาโอกาสอันสวยงามนี้ด้วยเช่นเดียวกัน  

ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะบริษัทเหล่านี้ล้วนมีองค์ความรู้ และที่สำคัญคือ มีขุมทรัพย์เทคโนโลยีอยู่ในมือ เพราะหากพูดถึงรถ EV เราไม่ได้พูดถึงเพียงแต่เรื่องแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ที่ทำให้สายรถยนต์สัปดาปภายในได้เปรียบเพียงเท่านั้น แต่รถ EV ยังต้องพูดถึงเรื่อง ‘เทคโนโลยีอัจฉริยะ’ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์รถ ระบบช่วยเหลือในการขับขี่ และระบบขับขี่อัตโนมัติ เป็นต้น  

Thairath Money รวบรวมโฉมหน้ารถ EV ที่บรรดาแบรนด์เหล่านี้เป็นผู้พัฒนาและได้ทยอยเปิดตัวในปีนี้ พร้อมรุ่น และสเปกที่น่าสนใจ จะมีแบรนด์ไหนเปลี่ยนเกียร์สู่ยานยนต์ไฟฟ้าบ้างไปดูกัน 

Xiaomi 

เสียวหมี่ แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และสมาร์ทโฟนจากจีน เจ้าล่าสุดที่ประกาศบุกตลาด EV เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าทรงซีดาน-คูเป้ ที่ผลิตซีรีส์แรกในปีนี้ ในชื่อ “Xiaomi SU7” โดยมี Beijing Automotive Group Co., Ltd. เป็นผู้ผลิตให้ ประกอบไปด้วยรุ่น SU7, SU7 Pro และ รุ่น SU7 Max มีให้เลือกขับทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD) และขับเคลื่อนสี่ล้อ (AWD) มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ให้กำลัง 664 แรงม้า วิ่งได้ไกล 770 กม./ชาร์จ มาพร้อมระบบ HyperOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเสียวหมี่ที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สมาร์ทโฟน และรถยนต์ 

นอกจากนี้ เสียวหมี่ ยังประกาศสร้างโรงงานในกรุงปักกิ่งที่สามารถผลิตรถยนต์ได้ 300,000 คันต่อปี โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตเต็มประสิทธิภาพภายในเดือนธันวาคมปีนี้ และพร้อมส่งมอบซีรีส์ SU7 ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเป็นต้นไป ในราคาเริ่มต้นประมาณ 300,000 หยวน (1.46 ล้านบาท) 

Huawei 

หัวเหว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technologies Co., Ltd.) อีกหนึ่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่จากจีนที่เข้าร่วมขบวนในปีนี้ โดยหัวเหว่ยนโพสิชันตัวเองในอุตสาหกรรมนี้ด้วยการเป็น ‘ซัพพลายเออร์ด้านเทคฯ’ กล่าวคือ หัวเหว่ยไม่ได้ผลิตรถยนต์เป็นคันแบบเพียวๆ แต่ทำให้เหล่าบริษัทรถยนต์ใช้เทคโนโลยีของตน 

โดยหัวเหว่ย คือ ผู้ออกแบบแพลตฟอร์มขับขี่อัตโนมัติ Huawei DriveONE ePowertrain ระบบเสริมแบตเตอรี่ Dynamic Adaptive Torque System (DAT) ระบบปฏิบัติการ Huawei HarmonyOS ระบบปฏิบัติการที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน รวมถึง Huawei HI ซอฟ์ตแวร์อัจฉริยะที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ 

ตัวอย่าง หัวเหว่ยร่วมมือกับ ‘Seres Group’ เปิดตัวแบรนด์รถ “Aito” ที่ย่อมาจาก Adding Intelligence to Auto) เปิดตัว “Aito M5” รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกที่วางตัวแข่งกับ Tesla Model Y มีให้เลือกขับทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหลัง (RWD) และขับเคลื่อนสี่ล้อ (AWD) รุ่น Standard มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ 247 กิโลวัตต์ วิ่งไกล 552 กม./ชาร์จ ในราคาพื้นฐานเริ่มต้น 288,600 หยวน (1.51 ล้านบาท) โดยปัจจุบันหัวเหว่ยกลายเป็นเจ้าของ Aito เต็มรูปแบบ 

นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆ อย่าง “Avatr 12” รถยนต์ไฟฟ้าหรูทรงคูเป้ที่พัฒนาร่วมกับ Chongqing Changan Automobile และ “Luxeed S7” รถยนต์ไฟฟ้าทรงซีดานที่พัฒนาร่วมกับ Chery Automobile ที่ได้เคลมว่า “เหนือชั้นกว่า Model S ของ Tesla” อีกด้วย 

Sony 

อีกเจ้าหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากสองยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมไอทีสัญชาติญี่ปุ่น ได้แก่ Sony Electronics และ Honda Motor ที่ได้ร่วมกันจัดตั้ง “SHM Motor” หรือ Sony Honda Mobility Inc. เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน โดยล่าสุดก็ได้เผยรถยนต์ไฟฟ้าโฉมแรกออกมาในชื่อ “AFEELA” รถซีดาน-คูเป้ดีไซน์ล้ำยุค สวยงามแปลกตา โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์ระดับสูง AD/ADAS ของโซนีมากกว่า 40 ตัว ซอฟต์แวร์ความบันเทิงครบวงจรของโซนีที่จะมาพร้อมกับระบบสมาชิกปลดล็อกฟีเจอร์พิเศษ 

นอกจากนี้ยังมีแผงคอนโซลแบบพาโนรามาโอบล้อมด้านหน้า มีเดีย์บาร์หน้ารถ และท้ายรถ โชว์แสดงสถานะการทำงานและสื่อสารกับคนภายนอกรถ จนได้ชื่อว่านี่เป็น ‘รถยนต์พูดได้’ เลยทีเดียว ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ผสมผสานเทคโนโลยีการขับขี่ที่นำเสนอคุณสมบัติด้านความปลอดภัย และความบันเทิงขั้นสูง สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางที่เติมเต็มด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยรต์ของฮอนด้านั่นเอง 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่เปิดเผยถึงสเปกของรถ โดยคาดว่าถูกวางให้ตีตลาดพรีเมียมแข่งขันกับ Mercedes-Benz, BMW, Volvo และ Audi และมีกำหนดเปิดจองอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2025 และจะเริ่มส่งมอบในปี 2026 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก 

Apple 

อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่สมาร์ทโฟนจากฝั่งสหรัฐอเมริกา Apple Inc. คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมขบวนนี้ก่อนเจ้าอื่นในเอเชียตั้งแต่ปี 2014 ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า "Project Titan" โครงการรถยนต์ไฟฟ้าของ Apple ที่ซุ่มพัฒนาระบบซอฟต์แวร์การขับขี่อัตโนมัติสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) ซึ่งในขณะนั้นมีการคาดการณ์ว่า “Apple Car” รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายนี้จะขึ้นเป็นคู่แข่งกับ Tesla เพราะด้วยโพสิชันของบิ๊กเทคฯ ที่ครอบครองซอฟต์แวร์ชาญฉลาดหลายตัวในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตามก็ไม่มีการอัปเดทข้อมูลถึงโครงการนี้ต่อ ทำให้ Apple Car ยังเป็นเพียงรถโปรเจกต์ และอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา และไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะแต่อย่างใด 

ทางฝั่งผู้ใช้และผู้ที่ใกล้ชิดวงการรถยนต์ไฟฟ้าต่างพากันคาดการณ์ถึงรูปโฉมและสเปกต่างๆ นานา โดยว่ากันว่าปัจจุบัน แอปเปิล กำลังเจรจาหารือกับบรรดาค่ายผู้ผลิตรถยนต์เจ้าต่างๆ เพื่อหาผู้ผลิต เพราะแอปเปิลเองไม่มีประสบการณ์ในการผลิตรถยนต์ จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ