Huawei บิ๊กเทคจีน มีรายได้จากอะไรอีกบ้าง นอกจากขายมือถือ?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Huawei บิ๊กเทคจีน มีรายได้จากอะไรอีกบ้าง นอกจากขายมือถือ?

Date Time: 10 พ.ย. 2566 18:20 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • Huawei (หัวเหว่ย) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน มีรายได้จากธุรกิจอะไรนอกจากขายมือถือที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมมากกว่า Apple และ Samsung

Latest


Huawei (หัวเหว่ย) บริษัทผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนลูกค้ามากถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลก และเป็นที่รู้จักจากสมาร์ทโฟนตัวหลายรุ่น

บทความนี้ Thairath Money จะพาไปดูว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Huawei มีรายได้จากธุรกิจอะไร และแข็งแกร่งขนาดไหนถึงทำสมาร์ทโฟนออกมาสู้เจ้าตลาดอย่าง iPhone และ Samsung ได้แม้จะถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ 

ในปี 2022 Huawei มีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 6.4 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่ทำได้ 6.3 แสนล้านหยวน มีกำไรจากการดำเนินงาน 4.2 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท) และกำไรสุทธิ 3.5 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท)

หากแบ่งเป็นรายได้ตามหน่วยธุรกิจสำหรับแต่ละกลุ่มลูกค้าในปี 2022 Huawei ทำรายได้ดังนี้

  • ธุรกิจโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและซอฟต์แวร์ (Carrier Business) 2.8 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายปี
  • ธุรกิจอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ (Consumer Business) 2.1 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ลดลง 11.9% เมื่อเทียบรายปี
  • ธุรกิจลูกค้าองค์กร (Enterprise Business) 1.3 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 6.4 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบรายปี
  • ธุรกิจอื่นๆ 1.0 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบรายปี

และหากมาดูตัวเลขรายได้จากการดำเนินตามภูมิภาคจะพบว่าจีนเป็นพื้นที่ที่ทำรายได้จากการดำเนินงานให้กับ Huawei มากที่สุดอยู่ที่ 4.0 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) ตามมาด้วยยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ที่ 1.4 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 7.2 แสนล้านบาท) 

และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีรายได้ 4.8 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 2.3 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนรายได้ลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 10.5% ในส่วนของรายได้โซนอเมริกาจะอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) และรายได้ในภูมิภาคอื่นๆ อื่ก 9.1 พันล้านหยวน (หรือประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ในทุกๆ ปี Huawei ยังทุ่มงบลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นจำนวนเงินมากกว่า 10% ของรายได้ที่มาจากการขาย โดยมียอดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาตลอดสิบปีที่ผ่านมารวมแล้วมากกว่า 9.7 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท) และการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาปี 2022 อยู่ที่ 1.6 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 7.8 แสนล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 25.1% ของรายได้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน Huawei ระบุว่าตัวเองเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่ง และได้รับการจัดอันดับ จาก Boston Consulting Group หรือ BCG ให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทที่มีนวัตกรรมมากที่สุดของปี 2023 

ตามรายงานการยื่นสิทธิบัตรระหว่างประเทศปี 2022 ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระบุว่าบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Huawei Technologies มีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรมากที่สุด ซึ่งก็ได้ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีการยื่นจดสิทธิบัตรสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

เตรียมตัวกลับมาทวงบัลลังก์ หลังถูกแบนโดยสหรัฐฯ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2019 บริษัทต้องเจอศึกหนักหลังถูกขึ้นบัญชีดำจากฝ่ายบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนั้น จากประเด็นความกังวลว่า Huawei ในฐานะบริษัทโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายในทั่วโลกจะส่งข้อมูลและคอยสอดแนมให้กับรัฐบาลจีน ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์รวมถึงซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ ได้

และในปี 2020 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ หรือ FCC ได้ระบุให้ Huawei เป็นภัยคุกคามความมั่นคง นำไปสู่การต่อสู้ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อช่วงชิงสถานะมหาอำนาจทางเทคโลยี ซึ่งกระทบกับธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัทอย่างหนักทำให้รายได้ตกลงมาเกือบ 50% ในปีถัดมา หลังทำไว้สูงสุดที่ 8.9 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 31.8 ล้านล้านบาท) ในปี 2020 และยังเป็นรายได้สูงสุดตลอดกาลของ Huawei

แต่ปัจจุบัน Huawei ก็สามารถกลับมาได้จากการสนับสนุนของรัฐบาลจีนและเป็นความหวังของประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ได้มีรายงานว่า Huawei กำลังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมเพื่อกลับมาทวงบัลลังก์มือถือ 5G อีกครั้ง พร้อมตั้งเป้าจัดส่งมือถือเพิ่มเป็น 40 ล้านเครื่อง จากเดิมที่ตั้งไว้ 30 ล้านเครื่องในช่วงต้นปี 

และอาจจัดหาชิป 5G จากในประเทศ โดยใช้จุดแข็งจากเครื่องมือออกแบบชิปของตัวเองควบคู่ไปกับการผลิตชิปจากบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีนอย่าง SMIC แม้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะกำหนดเงื่อนไขสกัดการส่งออกส่วนประกอบอย่างเข้มงวดขึ้น 

ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ของ Huawei ก็สามารถเติบโตได้จากตลาดในประเทศ โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีรายงานยอดขาย iPhone 15 ในจีนลดลงเมื่อเทียบกับ iPhone 14 ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า ส่วนหนึ่งมาจากความนิยม Huawei Mate 60 เป็นผลจากการสนับสนุนของชาวจีนเนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ

และไม่ใช่ครั้งแรกที่ Huawei ได้รับความนิยมมากกว่าเจ้าตลาดอย่าง iPhone เพราะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ได้ขึ้นแท่นผู้เล่นสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้า Samsung และ Apple เป็นครั้งแรก แม้ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนในต่างประเทศจะลดลง 27% แต่ได้รับการสนับสนุนจากในประเทศทำให้มียอดขายสมาร์ทโฟนเกินกว่า 70% ที่มาจากลูกค้าในจีน 

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ