Facebook ช่วยภาครัฐปราบสแกมเมอร์เต็มที่ ย้ำมิจฉาชีพแยบยลขึ้น ผู้ใช้ต้องรู้เท่าทัน-ช่วยกันรีพอร์ท

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Facebook ช่วยภาครัฐปราบสแกมเมอร์เต็มที่ ย้ำมิจฉาชีพแยบยลขึ้น ผู้ใช้ต้องรู้เท่าทัน-ช่วยกันรีพอร์ท

Date Time: 27 ต.ค. 2566 11:14 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • Facebook ประกาศ ร่วมมือหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้ข้อมูลภาครัฐดำเนินคดี จัดการปัญหาสแกมเมอร์ ย้ำ ผู้ใช้ต้องรู้เท่าทันและไม่หลงเชื่อ ช่วยกันตรวจสอบและรายงานในคอมมูนิตี้ เพราะปัจจุบันผู้กระทำผิดมีรูปแบบที่หลากหลาย ทำงานข้ามแพลตฟอร์มเป็นกระบวนการ

Latest


Facebook ประเทศไทยจาก Meta เปิดเผยในวงเสวนาร่วมกับสื่อมวลชนและหน่วยงานภาครัฐ ในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยลวงออนไลน์” โดยระบุ ที่ผ่านมา Facebook มีพยายามอย่างต่อเนื่องในการป้องกันสแกมและตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่ประสงค์ เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แต่ก็ยังพบกับความท้าทายสูงมากในการจัดการ 

คุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุถึง นโยบายฉ้อโกงและการหลอกลวง (Fraud and Deception policy) พร้อมมาตรการตรวจสอบและตรวจจับเนื้อหาหรือบัญชี ผ่านบุคลาการทีมผู้ตรวจสอบเนื้อหาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอย่าง AI และ Machine learning อย่างเคร่งครัด, การลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง, การลบเนื้อหาที่มีวัตถุประสงค์ในการหลอกลวง จงใจให้ข้อมูลที่ผิด หรือตั้งใจฉ้อโกงหรือหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินหรือทรัพย์สินของผู้อื่น  

โดยที่ผ่านมาได้ทำการไล่ลบบัญชีที่มีการตรวจพบว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นอันตราย หลอกลวงหรือละเมิดกฎอยู่เป็นประจำ หากพบว่ามีการละเมิดหรือไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด Facebook จะทำการลบบัญชี รวมถึงตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณา (Advertising Standards) จะไม่ได้รับการอนุมัติหรือถูกจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตาม โดย Meta ได้ให้ข้อมูลกับ Thairath Money ถึงการคุม เข้ม เพิ่มบทลงโทษ-พร้อมแบน หากพบเข้าข่ายหลอกลวง-สแกมโฆษณาบน Facebook

อย่างไรก็ตามปัญหา ‘สแกมเมอร์’ และ ‘สแกมโฆษณา’ ใน Facebook เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้กระทำผิดมีลักษณะการทำงานเชื่อมโยงกับเป็นเครือข่าย มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบ และทำเป็นรูปแบบกระบวนการจากหลากหลายแหล่ง 

ด้านหน่วยงานบังคับกฎหมาย พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหา ‘สแกมเมอร์’ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ บช.สอท.ให้ความสำคัญและทำงานอย่างเต็มที่ และภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ความท้าทายมีหลายด้าน เราก็พยายามทำทุกด้าน อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคในการจัดการกลโกงที่หลากหลาย รวมถึงปัญหาการได้รับข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยความร่วมมือกันมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดคดี

สำหรับผู้ใช้งานจำเป็นต้องศึกษาเพื่อให้รู้เท่าทัน อยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ หรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางไหน เพราะว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนากลลวงที่ซับซ้อนและอำพรางได้แนบเนียนมากขึ้น บางกรณีมิจฉาชีพมีวิธีการในการหลอกลวงที่อาศัยช่องโหว่จากการตรวจสอบของระบบ  

ด้าน รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสแกมเมอร์ออนไลน์อาชญากรรมเกิดขึ้นง่ายมาก โดยคนที่มีความรู้ ใช้ช่องโหว่ทางเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม คนไม่กี่คนสามารถเข้าถึงคนหลายล้านคน สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง 

โดยที่ผ่านมามีการรับแจ้งคดีทางออนไลน์จำนวนกว่า 360,000 หรือกว่า 600-700 คดีต่อวัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา กว่า 130,000 เป็นคดีเกี่ยวกับซื้อขายออนไลน์ และการหลอกลวงทางด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เดิมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565-30 กันยายน 2566 ระบุมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท 

สำหรับนโยบายเชิงรุกของกระทรวงประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนแรก การแชร์ข้อมูลกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและประสานความร่วมมือ เช่น การปิดกั้นโพสต์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจกระทรวงดีอี เช่น เว็บผิดกฎหมาย ส่วนที่สอง การออกกฎหมาย มาตรการป้องกันอาชญกรรมออนไลน์ รวมถึง พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ และส่วนที่สาม คือ การทำงานบูรณาการแบบ One stop serivce  โดยภาครัฐกำลังสร้างศูนย์แจ้งเตือน สามารถแจ้งและระงับธุรกรรมได้ในที่เดียว 

Facebook ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย 

อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมาทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มีการพูดคุยและมีกรอบความร่วมมือร่วมกัน ปรับอัลกอริทึมของระบบตรวจจับ พร้อมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลที่จำเป็นเพื่อดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเสริมทักษะดิจิทัล ให้ความรู้แก่ชาวไทย เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมทุกรูปแบบ   

โดยสุดท้ายปัญหาดังกล่าวยังต้องความร่วมมือร่วมแรงจากผู้ใช้งานในการตรวจสอบและรายงานพฤติกรรมที่น่าสงสัย โดย Facebook ได้สร้างฟีเจอร์และช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงรวมถึงสแกมโฆษณาด้วยตนเอง เมื่อพบเห็นกิจกรรมใดก็ตามที่น่าสงสัย, การแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยบน Messenger ซึ่งจะปรากฏขึ้นผ่านแชทและให้คำแนะนำ เพื่อช่วยผู้คนจับสังเกตกิจกรรมที่น่าสงสัย และดำเนินการบล็อกหรือเพิกเฉยในปีที่ผ่านมา 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์