Grab หรือ แกร็บ ประเทศไทย เดินหน้าธุรกิจโฆษณา “GrabAds” เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร เข้าถึงผู้บริโภคผ่าน Retail Media Network ช่องทางโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้าปลีก ที่ให้บริการโดยผู้ค้าปลีกและแพลตฟอร์มออนไลน์ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างตรงจุด ทางเลือกใหม่ในการโฆษณาที่ไม่ทำให้เกิดแค่การมองเห็นเพียงอย่างเดียว
หลายคนอาจจะรู้จัก Grab ในฐานะแอปพลิเคชันสำคัญที่ใช้ในการเดินทางรวมถึงการเป็นแอปเดลิเวอรี แต่นอกจากบริการที่เราคุ้นตากันแล้ว Grab ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจโฆษณาสำหรับผู้ประกอบการ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการทำโฆษณาในรถเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนขับ ก่อนจะเริ่มขยายบริการมาทำสื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มร้านค้าและแบรนด์ในแอปฯ
จากนั้นก็พัฒนาจนได้กลายมาเป็น GrabAds สื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้าปลีก ครอบคลุมการโฆษณาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ จนติดท็อปสามของสื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้บริโภคให้การตอบรับและมีความรู้สึกที่ดีต่อโฆษณา (Ad Equity) มากที่สุดจากผลสำรวจของ Kantar นับเป็นแนวโน้มที่ดีในยุคที่สื่อโฆษณากำลังมาแรง
โดยจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “หากเจาะไปที่ธุรกิจโฆษณาในปีที่ผ่านมา สื่อออนไลน์และออฟไลน์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลง ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สื่อออนไลน์ยังคงได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 5.6% ขณะที่สื่อนอกบ้าน (Outdoor & Transit media) มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด”
ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายในสื่อออนไลน์ในประเทศไทยของปี 2566 นั้นอยู่ที่ 55,530 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25% เมื่อเทียบกับโฆษณาออฟไลน์ที่มูลค่าการใช้จ่ายลดลง 1.9% จากการถดถอยของสื่อโทรทัศน์
“นอกเหนือจากสื่อโฆษณาหลักเหล่านี้แล้ว อีกหนึ่งรูปแบบของสื่อที่กำลังมาแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ สื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้าปลีก (Retail Media Network) ถือเป็นช่องทางใหม่ที่ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในขณะที่กำลังซื้อสินค้าออนไลน์หรือหน้าร้าน ทั้งนี้ ในปี 2566 ถือเป็นสื่อที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 3 โดยถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ารวมทั่วทั้งโลกสูงถึง 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 4.47 ล้านล้านบาท) และจะสามารถทำรายได้รวมสูงกว่ารายได้จากสื่อโทรทัศน์ได้ภายในปี 2571 (1.78 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.33 ล้านล้านบาท)”
และด้วยโอกาสของสื่อโฆษณาที่มาถึง GrabAds ก็ได้มีความพยายามในการขยายฐานลูกค้าไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ทุ่มงบในการโฆษณากับ GrabAds โดยเตรียมรุกกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods: FMCG) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และกลุ่มสถาบันการเงินและธนาคาร (Finance & Banking) เพื่อทำการตลาดกับผู้บริโภคร่วมกับ Grab
สื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มค้าปลีกนั้นมีความแตกต่างจากโฆษณาออนไลน์โดยทั่วไปตรงที่การโฆษณาบนแพลตฟอร์มจะสามารถทำได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยแสดงโฆษณาบนแพลตฟอร์มไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่สื่อโฆษณาบนรถโดยสารของ Grab หรืออยู่บนกระเป๋าส่งของของพาร์ตเนอร์คนขับ ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ
นอกจากนี้การทำโฆษณาบนแพลตฟอร์มอย่าง GrabAds ยังมีโซลูชันการตลาดอย่างครบวงจรตั้งแต่เริ่มสร้างแบรนด์ไปจนถึงปิดการขายด้วยการสั่งซื้อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม
ขณะเดียวกันยังมีความต่างจากโฆษณาออนไลน์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายจากความสนใจอย่างเช่นการเสิร์ช ซึ่งก็อาจจะไม่แม่นยำเท่ากับการเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของผู้ซื้อ โดยฐานข้อมูลที่มาจากประวัติการเดินทาง การสั่งของออนไลน์ ทำให้ทราบพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เกิดขึ้นจริง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ