อยากเป็นแบบ WeChat? ทำไม อีลอน มัสก์ กล้าเปลี่ยน Twitter เป็น X จากโซเชียลมีเดีย สู่ Super App

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อยากเป็นแบบ WeChat? ทำไม อีลอน มัสก์ กล้าเปลี่ยน Twitter เป็น X จากโซเชียลมีเดีย สู่ Super App

Date Time: 26 ก.ค. 2566 20:11 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • เรียกได้ว่ากวาดเรียบทุกพื้นที่สื่อ กับความกล้าได้กล้าเสีย ของมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลกอย่าง อีลอน มัสก์ ล่าสุดได้ประกาศเปลี่ยนโลโก้ Twitter จากนกฟ้า ที่คุ้นตา เป็น X ซึ่งชื่อนี้เขาไม่ได้จะเปลี่ยนแค่โลโก้เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนตั้งแต่ชื่อบริษัท และชื่อโดเมนใหม่มาเป็น x.com ด้วย เขากำลังคิดจะทำอะไรกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนี้กันแน่?

Latest


เปิดที่มาของ X  ทำไม อีลอน มัสก์ เลือกใช้ชื่อนี้? 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งสมัยอีลอน มัสก์ ยังหนุ่ม ก่อนที่จะเริ่มก่อตั้ง SpaceX และ  Tesla เขาเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการเทคโนโลยีอยู่แล้ว จากการเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง PayPal ระบบชำระเงินออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังให้กับธุรกิจทั้งเล็กใหญ่ทั่วโลก

ในช่วงก่อตั้ง PayPal ในปี 1999 นั้น อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง x.com ได้รวมกับบริษัท Confinity และได้เปลี่ยนชื่อเป็น PayPal ในปี 2001 เพื่อให้เป็นบริษัทที่ให้บริการการชำระเงินออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากนั้น PayPal ได้เติบโตเป็นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเป็นที่ต้องตาต้องใจกับนักลงทุนและบริษัทขนาดใหญ่ และในปี 2002 จึงขายกิจการให้กับ eBay ในราคา 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วงที่มีการควบรวมกิจการ และเปลี่ยน X มาเป็น PayPal  นั้น เท่ากับว่าอีลอน มัสก์ เขาได้สูญเสียชื่อโดเมน x.com ไปด้วย และอีลอน มัสก์ เองก็ใช้เวลากว่า  20 ปี ในการตัดสินใจซื้อโดเมนที่เลิกใช้ไปแล้วนั้นกลับคืนมาจาก PayPal ในปี 2017 (แต่ PayPal ขายให้อีลอน มัสก์ในราคาเท่าไหร่นั้น ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขออกมา)

ดังนั้นในการเลือกใช้ชื่อ X เป็นโฉมใหม่ให้กับ Twitter นั้นจึงเป็นการนำบริษัทด้านการเงินเดิมที่เขาเคยทำในอดีตมาครอบ เพื่อเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจใหม่นั้นเอง 

เปลี่ยน Twitter เป็น X ฮือฮาก็จริง แต่ก็เสี่ยงในแง่มูลค่าแบรนด์ 

แม้ว่าอีลอน มัสก์ อาจจะรักเป็นพิเศษกับชื่อแบรนด์ที่มีองค์ประกอบของ X  ตั้งแต่ธุรกิจยันชื่อลูกชาย แต่สำหรับ Twitter แอปนกฟ้า ที่เป็นโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวพันกับบทสนทนาในชีวิตประจำวันของผู้คนนับล้านทั่วโลก 

ในกรณีนี้หากมองในเชิงของแบรนด์นักวิเคราะห์หลายรายต่างออกมาแสดงความเห็นว่า นี่เป็นความผิดพลาด เพราะถ้ามองในเชิงการตลาดอาจจะทำให้ Twitter สูญเสียมูลค่าแบรนด์สูงถึง 4-20 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 138-690,000 ล้านบาทเลยทีเดียว 

Steve Susi ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารแบรนด์ของ Siegel & Gale มองว่า “ต้องใช้เวลากว่า 15 ปีกว่าจะได้มูลค่ามากขนาดนั้นในระดับโลก ดังนั้นการสูญเสีย Twitter ในฐานะชื่อแบรนด์จึงได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างมาก” 

Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านการประเมินมูลค่าแบรนด์ ได้ประเมิน มูลค่า Twitter อยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แบรนด์ Facebook ที่ 59 พันล้านดอลลาร์ และ Instagram ที่ 47.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ Vanderbilt University ประเมินมูลค่าแบรนด์ของ Twitter ไว้ที่ 15,000 ล้านถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบได้กับ Snapchat

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งได้ประกาศรีแบรนด์มาให้เห็นกันอยู่ตลอด ตามวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ใหม่ที่ต้องการจะมุ่งไป ไม่ว่าจะเป็น  Google เปลี่ยนเป็น Alphabet Inc. เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ภายในบริษัทเติบโตโดยไม่ต้องผูกติดกับ Search Engine ส่วน Facebook เปลี่ยนเป็น Meta Platforms Inc. เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีต่อ metaverse แต่ความต่างคือ ทั้งสองกรณีนั้นชื่อผลิตภัณฑ์ยังคงอยู่ ต่างจากอีลอน มัสก์ ที่ทำให้ Twitter หายไปเลย แล้วมี  X เข้ามาแทน

WeChat โมเดล  : เปลี่ยน  Twitter จากโซเชียลมีเดีย สู่ SuperApp 

ตั้งแต่อีลอน มัสก์ เข้าซื้อ Twitter เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เป็นที่น่าติดตามและน่าวิตกไปพร้อม ๆ กันว่าเขาคิดจะทำอะไรกับแพลตฟอร์มนี้กันแน่ เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินกว่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่จ่ายไป 

หลังจากที่ซื้อ Twitter มาครองแล้ว อีลอน มัสก์ ได้มีการบอกใบ้อย่างต่อเนื่องว่า เขาต้องการเร่งปั้น X Corp ให้เป็นบริษัทที่ทำแพลตฟอร์มสำหรับทุกอย่าง ถ้าเป็นฝั่งเอเชียก็จะนิยมเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า SuperApp 

ที่ผ่านมาอีลอน มัสก์ ได้มีการปรับโครงสร้างอย่างหนักในการเพิ่มรายได้และลดการขาดทุนด้วยการประกาศปลดพนักงานจำนวนมาก เอาชนะสแปมด้วยการจ่ายเงินเพื่อรับเครื่องหมาย verified account 

และแสดงออกชัดเจนในแง่ของการปลั๊กอินธุรกิจการเงินเข้ามากับแพลตฟอร์มด้วย โดยที่ผ่านมามีรายงานว่า Twitter ได้ยื่นเอกสารกับ Financial Crimes Enforcement Network (FinCEN) ของกระทรวงการคลังสหรัฐ เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการเงิน

นอกจากนี้มัสก์เคยให้สัมภาษณ์กับ The Verge ว่าเขาต้องการเปลี่ยน Twitter เป็น X ซึ่งเป็นซุปเปอร์แอปฯ ที่คล้ายกับ WeChat ของจีน ที่ผ่านมา Twitter เองก็มีความเคลื่อนไหวด้านการเงินการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการควบรวมกิจการไปอยู่ภายใต้ X Corp และ การจับมือ eToro แอปฯ เทรดชื่อดัง เตรียมให้ผู้ใช้ซื้อขายคริปโตฯ บนแพลตฟอร์มได้

สำหรับผู้บุกเบิก Super App แพลตฟอร์มที่ทำได้หลายฟังก์ชันโดยไม่ต้องออกจากแอป เราคงต้องยกความดีความชอบในด้านการรวมศูนย์ให้กับจีน และเผยแพร่แนวคิดในกับธุรกิจเทคโนโลยีทั้งหลายทั่วเอเชีย โดยเฉพาะ WeChat แอปแชต ที่มีบริการชำระเงิน รวมถึงผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการอื่นๆ ภายในแอปได้ด้วย ซึ่งเป็น Super App ที่ใหญ่สุดในโลก ดำเนินการโดย Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน และมีผู้ใช้มากกว่า 1.3 พันล้านคน งานนี้อีลอน มัสก์ ถึงกับเอ่ยถึงด้วยความชื่นชมเลยทีเดียว  

โดยมัสก์บอกกับพนักงานว่า คิดว่ามีโอกาสจริงๆ ที่จะสร้างสิ่งนั้น เพราะโดยพื้นฐานแล้วผู้คนในจีนใช้ชีวิตบน WeChat เพราะมันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมาก  ถ้า Twitter สามารถเทียบเคียงกับ Super App ได้มันจะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

และในวันที่ประกาศตัวว่าจะเปลี่ยนตัวเองเป็น X ลินดา ยัคคาริโน (Linda Yaccarino) ผู้เป็น CEO คนใหม่ได้ส่งอีเมลแจ้งพนักงาน และได้มีการระบุว่า บริษัทจะเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้ Twitter ด้วย “เสียง วิดีโอ การส่งข้อความ การจ่ายเงิน การทำธุรกรรม และตลาดโลกของไอเดีย สินค้า บริการ และโอกาส” กล่าวคือ นี่เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์และความเปลี่ยนแปลงที่จะมุ่งไปของ X หลังจากนี้ 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโมเดล Super App จะไปได้ดีในแถบเอเชีย ที่ไม่ค่อยจะเน้นให้ธุรกิจมีการแข่งขันเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค พฤติกรรมผู้คนที่รักในความสะดวกสบาย รวมถึงการทำธุรกิจในรูปแบบของการมุ่งสร้างระบบนิเวศของตัวเอง

การขยายโมเดลดังกล่าวไปในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปยังถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบการชำระเงินที่มัสก์ต้องการผลักดัน เมื่อครั้งอกหักจาก x.com ก่อนควบรวมกับ PayPal เพราะแถบตะวันตกผู้คนยังคงพึ่งพาระบบบัตรเดบิต และบัตรเครดิตในการชำระเงินเป็นหลัก ไม่เหมือนกับจีนที่ประสบความสำเร็จกับระบบคิวอาร์โค้ด 

ขณะที่บริการอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในแพลตฟอร์ม แน่นอนว่าบริการเรียกรถและส่งอาหารมีการแข่งขันสูง หรือถ้าจะไปร่วมมือกับโซเชียลมีเดียรายอื่น โดยเฉพาะ Meta ก็ดูท่าจะยาก จากที่เพิ่งท้าต่อย และสลับกันฟ้องเป็นว่าเล่น ไม่น่าจะลงรอยทางธุรกิจกันได้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามกันต่อไปว่าอีลอน มัสก์ จะงัดไม้เด็ดอะไร หรือเดิมหมากตัวไหนในกระดานนี้ต่อ

 


อ้างอิง Bloomberg , CNBC ,WSJ ,The Verge






Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์