LiVE Platform เปิดโครงการ 'New S Curve to Capital Market' ช่วยดันคนตัวเล็กเข้าสู่ตลาดทุน

Tech & Innovation

Startup

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

LiVE Platform เปิดโครงการ 'New S Curve to Capital Market' ช่วยดันคนตัวเล็กเข้าสู่ตลาดทุน

Date Time: 27 มี.ค. 2567 16:44 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • เปิดที่มาโครงการ “New S Curve to Capital Market” จากความร่วมมือของ LiVE Platform ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ NIA พร้อมด้วยพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และ KPMG ประเทศไทย ปั้นเศรษฐกิจใหม่ สร้างการเติบโตให้ประเทศ ผ่านโครงการ New S Curve to Capital Market เปิดโอกาสให้ SME และ Startup เข้าสู่ตลาดทุน พร้อมรับทุนสนับสนุน มูลค่าเบื้องต้น 1 ล้านบาท

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ "New S Curve to Capital Market" ต่อยอดจากการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เดิมทีตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการผ่าน LiVE Platform แพลตฟอร์มที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับธุรกิจที่ขาดความรู้ ขาดที่ปรึกษา ขาดเครื่องมือในการสร้างการเติบโตของธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งใน LiVE Exchange, mai และ SET 

ที่มาของโครงการ New S Curve to Capital Market  

เป้าหมายหลักของ New S Curve to Capital Market คือ การเพิ่มช่องทางในการเข้าสู่ตลาดทุนและต่อยอดการเติบโตในระยะยาวสำหรับ SME และ Startup ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ “ผู้ประกอบการ New Economy” 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ (Life Science), ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีพัฒนาสินค้าบริการ (High Technology) และธุรกิจที่มีศักยภาพขยายตัวสูง (High Growth)

นายประพันธ์ กล่าวว่า เดิมทีสัดส่วนของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่ล้วนเป็น Old Economy หรือกลุ่มธุรกิจที่เติบโตอย่างเต็มที่แล้วมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมักจะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำของตลาด นอกจากนี้หากรวมจำนวนบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง SET และ mai จะมีจำนวนประมาณ 900 บริษัท รวมมูลค่าตลาดราว 18 ล้านล้านบาท มีบริษัทที่เป็น New Economy อยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น  

โครงการนี้จะมุ่งพัฒนาความรู้และเทคนิคในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเสริมในเรื่องทักษะการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ และเตรียมความพร้อมเพื่อการเติบโตและระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ผ่านการ Workshop, Coaching และ One-on-One Coaching เป็นระยะเวลา 4 เดือน (กรกฎาคม-ตุลาคม 2567) ที่จะเปิดรับจำนวน 60 บริษัท โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจบโครงการมีโอกาสรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สูงสุดบริษัทละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่โครงการกำหนด 

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวถึงตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูงในเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่ม FinTech, กลุ่ม DeepTech ที่เจาะจงด้าน AI-Robotics และด้านพลังงาน และกลุ่ม ClimateTech ที่สอดคล้องไปกับเทรนด์เรื่อง ESG นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจการเกษตรและอาหาร รวมถึงภาคบริการที่กำลังมีการขยายตัวของตลาดสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้  

อย่างไรก็ตาม นอกจาก ‘เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม’ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานและจำเป็นที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้แล้ว ความพร้อมขององค์กรและความสามารถในการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะถูกพิจารณาจากนักลงทุน

ปัจจุบันภาครัฐและ NIA มีการสนับสนุนผู้ประกอบการและกลุ่มธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านเครื่องมือหลากหลายรูปแบบ Cash-Coach-Connect อาทิ โครงการบ่มเพาะ การร่วมมือกับพันธมิตรในการสร้างอีโคซิสเต็มและการให้เงินทุน ซึ่งผู้ประกอบการ New Economy ส่วนใหญ่อยู่ในพอร์ตฟอลิโอของ NIA และหน่วยงานพันธมิตรอยู่ ซึ่งบางเจ้าที่มีแผนการเข้าสู่ตลาดทุน จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้

โดย ดร.กริชผกา กล่าวเสริมว่า เป้าหมายที่คาดหวัง คือ ความหลากหลายของธุรกิจ เพื่อให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบ เห็นถึงโมเดลในการจัดตั้งผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าอุตสาหกรรมแบบใดเป็นอย่างไร “หากต้องการสร้างแรงกระเพื่อมในเศรษฐกิจได้จริง คือ การผลักดันธุรกิจ New S-curve และการสนับสนุนให้คนตัวเล็กเติบโตไปพร้อมกัน” 

นอกจากนี้ด้าน นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กล่าวถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ Life Science หรือภาคธุรกิจ Health & Wellness ที่เป็น New Economy ของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ 

โดยท่ีผ่านมา TCELS มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา เสริมสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างรวดเร็ว TCELS จึงได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริมศักยภาพ เพิ่มความแข็งแกร่งในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ 

นายเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า KPMG มีความพร้อมและมีทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวางแผนธุรกิจและการแข่งขัน ตลอดจนช่วยเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ โดย KPMG ให้ความสำคัญในด้านกลยุทธ์องค์กร กลยุทธ์ด้านการดำเนินงาน กลยุทธ์ด้านการเงิน กลยุทธ์ด้านบุคลากร รวมถึงการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับแนวทางในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจ ตลอดจนการก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต 

 


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์