นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการ นำทีมคณะผู้บริหาร กระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เข้าหารืออย่างเป็นทางการกับ นายไซโตะ เคน รมว.กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประชุมต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับเมติ โดยได้เน้นย้ำกับเมติว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญของกันและกันมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ซึ่งจากนี้ไปทั้ง 2 ฝ่ายจะเน้นการดำเนินงานร่วมกันในทุกๆด้าน
ทั้งนี้ ระหว่างการหารือฝ่ายไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อรองรับและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เติบโตและก้าวทันยุคสมัย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศกับญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง และมีการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างกัน 2 ฉบับ ในปี 2561 และ 2565 ที่ได้เน้นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยและต่อยอดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย รวมถึงกระตุ้นการเติบโตและสร้างวงจรการผลิตที่เข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น
ดังนั้น ในการหารือร่วมกันครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยจะเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 2.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม 3.การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต
รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of-Life Vehicle) และ 4.การพัฒนาพลังงาน สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค
พร้อมกันนี้ ยังได้หารือกับ 2 องค์กรพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) โดยฝ่ายไทยได้ขอให้ SMRJ ขยายการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไทย-ญี่ปุ่น และการยกระดับการบ่มเพาะ พัฒนาสร้างเครือข่ายสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ
นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) โดยได้ข้อสรุปว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ 1.โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2.โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถโฟร์กคลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม 3.โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 4.โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ยังได้ประชุมร่วมกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อการขยายความร่วมมือกับอุตสาหกรรมฮาลาลของญี่ปุ่นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารญี่ปุ่น สำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาลไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพ ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลกที่คาดว่าจะมีเอกชนของญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
ดังนั้น จึงได้สั่งการให้ดีพร้อมในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ไปจัดทำแผนงานการต่อยอดและขยายผลกรอบการทำงาน (Framework) ฉบับใหม่ที่มีการร่วมลงนามในครั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้แนวนโยบาย DIPROM Connection (การขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการ)
“ความสำเร็จในการหารือครั้งนี้จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมของไทยสามารถปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆจากการเข้ารับการอบรมในแผนงานต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป อาทิ แผนการพัฒนาความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เช่น Robotic (หุ่นยนต์), IoT (อินเตอร์เน็ตออฟติงส์), Automation (ระบบอัตโนมัติ) เป็นต้น”
แผนงานทั้งหมดนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในกระบวนการผลิตและการจัดการ และยกระดับกระบวนการผลิต ทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาพลังงานทางเลือก สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล-อัปไซเคิลวัสดุต่างๆอย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด มาตรการเหล่านี้เปรียบได้กับบัตรผ่านทางในการทำธุรกิจและการส่งออกสินค้าไทยไปสู่เวทีโลก ในอนาคต โดยไม่มีข้อติดขัดหรืออุปสรรคทางการค้า.