นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เปิดเผยถึง ปัญหาการลดลงของสตาร์ทอัพระดับซีรีส์ A ในช่วงที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวของเม็ดเงินที่ลดน้อยลง ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทยหายไปเจ้า แม้หน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น แต่จะเลือกสตาร์ทอัพระยะ Seed อยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นมากกว่า อีกทั้ง VC และ CVC ไทยจะรอลงทุนที่ระดับซีรีส์ A เป็นต้นไป ซึ่งเป็นจุดที่ถือว่าเป็น Comford Zone แล้ว เพราะมีความมั่นใจกิจการของสตาร์ทอัพมากกว่า ทำให้สตาร์ทอัพไทยติดค้างอยู่ที่ช่วง Pre-Series A จำนวนมาก เพราะขาดเงินทุน ติดปัญหาเรื่องการขยายกิจการและการระดมทุนเพิ่ม
จึงเป็นที่มาให้ กรุงศรี ฟินโนเวต จัดตั้งกองทุนกองใหม่ "FinnoEfra" Private Equity Trust มูลค่า 1,000-1,300 ล้านบาท ที่ได้จับมือกับ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group, กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ที่จะมุ่งไปยังสตาร์ทอัพระดับ Early Stage จนถึง Pre-Series A ในกลุ่ม Impact Technology และ Digital Transformation โดย Ticket size จะอยู่ที่ 10-20 ล้านบาทต่อราย
สำหรับกองนี้ตั้งเป้าสร้างผลตอบแทนอยู่ที่ 30% ต่อปี และคาดว่าจะเริ่มต้นระดมทุนเต็มรูปแบบในปี 2024 แบ่งสัดส่วนสตาร์ทอัพในประเทศ 60% ต่างประเทศ 40% โดยปีแรกจะเน้นในประเทศไทยก่อน
“สตาร์ทอัพไทยมีไม่มากพอที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมการทำงาน หรือช่วยยกระดับด้านดิจิทัลทรานฟอร์เมอชันให้องค์กรธุรกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะเติบโตขึ้นได้จากมีส่วนร่วมของสตาร์ทอัพ แต่สตาร์ทอัพจะเติบโตได้ต้องมีนักลงทุน”
ปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนตเวต ให้ความสำคัญกับแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน “Impact Focus” โดยจะโฟกัสไปที่การลงทุนกับสตาร์ทอัพที่สร้างอิมแพคต่อสังคมในภาคส่วนต่างๆ เลือกสรรสตาร์ทอัพโดยประเมินศักยภาพของสตาร์ทอัพอย่างละเอียดมากขึ้น อาทิ ผลประกอบการที่ชัดเจน ความสามารถในการทำไรที่ชัดเจน การต่อยอดธุรกิจให้กับพาร์ตเนอร์ได้จริง
กลยุทธ์ในตอนนี้เข้าสู่บริบทที่เรียกได้ว่า “หมดยุคหว่านเงินแล้ว” ที่ผ่านมามีการยกเลิกการลงทุน เพราะหลายกิจการพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถควบคุมต้นทุนและการบริหารทรัพยากรได้ ไม่มีทางที่จะสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ถ้าสตาร์ทอัพยังยึดถือว่าต้องใช้เงินเยอะเพื่อซื้อความเป็นผู้นำตลาด หากสตาร์ทอัพสายป่านขาดเมื่อไหร่ ยิ่งได้รับผลกระทบหนัก
ทั้งนี้ ได้รายงานผลดำเนินการล่าสุด โดยระบุว่า กรุงศรี ฟินโนเวตมีการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 3,574 ล้านบาท ดำเนินการผ่านกองทุนแม่ Finnoventure Private EquityTrust I ที่ได้มีการระดมทุนจากนักลงทุนรวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,700 ล้านบาท เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระดับซีรีส์ A ขึ้นไปในกลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซและโมบิลิตี้เทค และมุ่งเน้นไปที่สตาร์ทอัพไทย 80% และในภูมิภาคอาเซียน 20% ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้ว 1,208 ล้านบาทในสตาร์ทอัพ 14 รายและสามารถทำผลตอบแทนสูงถึง 20% ต่อปี โดยผลตอบแทนเฉลี่ยในปลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 14% จากปีแรกที่เปิดตัว และคาดว่าจะมีอัตราตอบแทนเฉลี่ยที่คงที่ในปีถัดมา
โดยขณะนี้มีดีลรอดำเนินการอยู่ 5-7 ดีล และคาดว่าจะลงทุนครบทั้งหมดภายในปี 2024 พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพในพอร์ทให้ได้ถึง 25 ราย อีกทั้งยังมีสตาร์ทอัพเตรียม IPO จำนวน 6 ราย โดยห้ารายวางแผน IPO ที่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย และอีกหนึ่งรายคาดว่า IPO ที่ตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังระบุถึง Finnoverse & Futuristic Fund กองทุนที่จะมุ่งเน้นไปยังกิจการสมัยใหม่ความเสี่ยงสูง อีกทั้งสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ Decentralized Technology เช่น Blockchain, Web3 รวมถึง AI, Cyber Security, Quantum Technology และ ESG โดยจะมีขนาดกองอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างดีลได้อีก 10 ดีลภายในปี 2024
“มั่นใจว่า กรุงศรี ฟินโนเวตเป็น CVC คัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพมากที่สุด เข้าใจแนวทางของสตาร์ทอัพทุกรูปแบบ และมีการ Synergy ร่วมกันมากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันกรุงศรี ฟินโนเวต ดำเนินการไปแล้วมากกว่ากว่า 130 โปรเจกต์ ซึ่งทำงานร่วมกับ 38 องค์กรธุรกิจ สตาร์ทอัพกว่า 71 ราย ครอบคลุมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งการจัดโปรแกรมศูนย์บ่มเพาะ Accelerator และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ FinnoSpark, KFIN Family Meetup”