เบื้องหลังมูลค่าธุรกิจอัรสูงลิ่วของธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำนักงานชื่อดัง "WeWork" มีที่มาจาก นักธุรกิจชาวอิสราเอล อดัม นอร์แมน (Adam Neumann) ร่วมกับภรรยา รีเบ็คกา นอร์แมน (Rebekah Neumann) และ มิเกล แม็คเคลวีย์ (Miguel McKelvey) คณะผู้ก่อตั้งทั้งที่มาพร้อมกับแนวคิดยกระดับพื้นที่สำนักงาน เจาะกลุ่ม ฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพน้อยใหญ่ สร้างเทคคอมมูนิตี้รวมตัวนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในฐานะดาวเด่นดวงใหม่ของโมเดลแพลตฟอร์ม Sharing Economy ที่ฝันเป็น “The office of the future” สำนักงานแห่งอนาคต..
ในฐานะซีอีโอทำให้ อดัม มีบทบาทหลักในการทำให้ WeWork นั้นเวิร์กจริงๆ ไม่ว่าจะด้วยการก้าวสู่แสงเพื่อนำเสนอตนเองในฐานะสตาร์ทอัพหัวก้าวหน้าไฟแรง ขึ้นเวทีนำเสนอธุรกิจ หว่านล้อมเอาชนะใจนักลงทุนด้วยแพชชันและโมเดลธุรกิจที่คิดว่าจะทำกำไรได้
ปี 2010 WeWork สาขาแรกตั้งขึ้นแถวย่าน SoHo เมืองนิวยอร์ก พร้อมจุดยืนในการเข้าปฏิวัติตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วยโมเดลธุรกิจ “Co-Working Space” เปิดให้บริการเช่าพื้นที่สำนักงานบางส่วนบนข้อตกลงระยะสั้นและยืดหยุ่น จากเดิมที่ธุรกิจอาจต้องลงทุนเช่าอาคารขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับข้อตกลงที่ผูกมัดด้วยข้อสัญญาระยะยาว ซึ่ง ปีถัดมาก็ อดัม เริ่มต้นรับเงินลงทุนรอบแรก (Seed round) มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ สัญญาณการเริ่มต้นธุรกิจก็ได้ดังขึ้น
ต่อมาระหว่างปี 2014 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการเพิ่มทุนจนทำให้ WeWork ขึ้นแท่นยูนิคอร์น หลังรับเงินจากการระดมทุนอย่างต่อเนื่องรวมแล้วกว่า 560 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุนรวมแล้วกว่า 18 ราย นำโดย Goldman Sachs, JPMorgan, T. Rowe Price, Harvard University
โดยปี 2017 ที่เรียกได้ว่าเป็นไทม์ไลน์สำคัญ SoftBank กองทุนระดับโลกจากญี่ปุ่นนำโดย มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son) ก็ได้กระโดดเข้ามาลงทุนใน WeWork เป็นครั้งแรกด้วยเงิน 3.7 พันล้านดอลลาร์ และทุ่มเงินก้อนที่สองต่ออีก 1 พันล้านดอลลาร์ ด้วยความเชื่อมั่นในธุรกิจรายนี้ ทำให้มูลค่าธุรกิจของ WeWork พุ่งขึ่นแตะอันดับสูงสุด (Peak Valuation)
เมื่อถึงจุดหนึ่ง อดัม ขยับขยายธุรกิจสู่ก้าวต่อไปด้วยการพา WeWork เข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกในปี 2019 ด้วยการประเมินมูลค่าธุรกิจประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การ IPO ครั้งแรกนี้กลายเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้งการสตาร์ทอัพต้องพบกับเรื่องฉาวของยูนิคอร์นอีกครั้ง
WeWork ถูกตั้งคำถามถึงความสูญเสียจำนวนมากของบริษัท เพราะเอกสารจากการยื่นนั้นได้เปิดเผยถึงผลขาดทุนและเงินสดที่ร่อยหรอ โดยหลังจากเรื่องเริ่มเป็นที่รับรู้ หุ้น WeWork ร่วงลงทันทีกว่า 50% ก่อนที่ อดัม จะตัดสินใจยื่นถอนการ IPO ออกไปจากกระแสกดดันของบรรดานักลงทุน โดยเฉพาะ SoftBank ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 60% ด้วยเหตุผลกลับไปปรับโครงสร้างบริษัทและจัดการธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม เอกสารได้เปิดเผยถึงปัญหาด้านธรรมาภิบาลที่สะท้อนถึงความบกพร่องของ อดัม ที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมผิดปกติหลายประการ เช่น การนำเงินบริษัทไปใช้จ่ายส่วนตัว การตกแต่งบัญชี ขายหุ้นของตัวเองขณะที่อยู่ในกระบวนการ IPO โครงสร้างบริษัทที่เอื้อให้ อดัม มีสิทธิ์ในการตัดสินใจอยู่เหนือบอร์ดบริหาร ทำให้ อดัม สามารถทำอะไรได้ตามใจโดยไม่ถูกขัด
และมากไปกว่านั้นความทะเยอทะยานในทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการต่างๆ ของเขา กลับแลกมากับผลขาดทุนยับและผลพวงหนี้สินระยะยาวสุทธิ 2.9 พันล้านดอลลาร์ สัญญาเช่าระยะยาวมากกว่า 13 พันล้านดอลลาร์ นำไปสู่การไล่ อดัม ลงจากตำแหน่ง หลังจากนั้น ซานดีฟ แมธทรานี (Sandeep Mathrani) ได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโอแทนในปี 2020 โดยมี อาร์ตี้ มินสัน (Artie Minson) ซีเอฟโอ และ เซบาสเตียน คันนิงแฮม (Sebastian Gunningham) รองประธานของบริษัท ขึ้นมาเป็นซีอีโอร่วมแทน
แม้ว่าในปี 2021 WeWork จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้สำเร็จผ่านวิธีการ SPAC ด้วยการเข้าซื้อกิจการ BowX Acquisition Corp. ด้วยการประเมินมูลค่าธุรกิจ อยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์ แต่ WeWork ยังตกอยู่ใต้มรสุมความเชื่อมั่นที่ลดลงจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม WeWork พิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทก็ยังไม่สามารถสร้างการเติบโตของรายรับและทำกำไรได้ตามแผน จนกระทั่งเกิดมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดที่ได้ซ้ำเติมธุรกิจหลัก มาตรการกักตัวในที่อยู่อาศัยทำให้คนทั่วโลกต้องทำงานจากที่บ้าน ผู้คนบอกเลิกสัญญาเช่าออฟฟิศกะทันหัน ตามด้วยการปิดพื้นที่ให้เช่าหลายสิบแห่ง
แน่นอนว่า สภาพแวดล้อมที่มีอุปทานส่วนเกินแต่อุปสงค์กลับลดลง และมากไปกว่านั้นกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้ WeWork เผชิญปัญหารอบด้าน โมเดลปล่อยเช่าในระยะสั้นของ WeWork ถูกตั้งอย่างหนาหูในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ว่าเป็นต้นขั้วที่ทำให้บริษัทตกอยู่ใน "ความเสี่ยง” และกลายเป็นชะงักติดหลังให้ WeWork ต้องแบกค่าเช่าต่อเนื่อง
WeWork ปรับโครงสร้างงบดุลครั้งแรกและเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อชะลอการครบกำหนดชำระหนี้ภายในปี 2027 ก่อนปรับปรุงอีกครั้งพร้อมประกาศว่าบริษัทยังคงไหว จัดทำแผนฟื้นฟูสถานะทางการเงินของบริษัทให้ได้ภายใน 1 ปีนี้
แม้จะมีความพยายามเหล่านี้แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานะธุรกิจกำลังส่อแววล้มละลาย นำไปสู่การถอนหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมพร้อมพันธบัตร จนกระทั่ง WeWork ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละหลายต่อศาลสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ระบุจำนวนหนี้สินบริษัทในจำนวน 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมเหตุผลถึงการปรับตัวต่อไปไม่ไหว โดยหุ้นบริษัทลดลงประมาณ 98.5% ทำจุดต่ำสุดต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์กันว่ามูลค่าธุรกิจจะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์
ถึงจุดนี้ WeWork คือ สตาร์ทอัพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์การพิจารณาของแตละบุคคล แต่แน่นอนว่า WeWork กลายเป็นบริษัทอีกรายที่พิสูจน์ให้เห็นว่า 'มูลค่าธุรกิจ' (Valuation) ไม่ว่าจะหลังจากรับเงินลงทุนหรือการถูกประเมินจากตลาด กลับไม่ได้สะท้อนภาพจริง
อดัม ถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบกับกรณีของ อลิซาเบธ โฮล์มส (Elizabeth Holmes) ผู้ก่อตั้ง “Theranos” สตาร์ทอัพที่บอกว่าตัวเองจะพลิกโฉมวงการแพทย์ด้วยการตรวจเลือดเพียงหยดเดียวจนสามารถระดมทุนได้จำนวนมหาศาลก่อนถูกเปิดโปงว่า 'ลวงโลก'
อย่างไรก็ตามตัดภาพมาที่ปัจจุบัน อดัม ได้เริ่มลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ที่เรียกว่า "Flow" โดยมีบริษัทร่วมลงทุนรายใหญ่อย่าง Andresen Horowitz ด้วยโจทย์การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งว่ากันว่าเป็นการสานต่อแนวทางของ อดัม กับ WeWork
และได้กล่าวถึงการล่มสลายของ WeWork ทิ้งท้ายว่า "ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork ซึ่งใช้เวลากว่าทศวรรษในการสร้างธุรกิจพร้อมด้วยทีมงานที่น่าทึ่ง การยื่นฟ้องล้มละลายของบริษัทเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง”
ปัจจุบันหลายจดจำ WeWork จัดว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของวงการสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ก่อตั้งโดยซีอีโอที่มีแนวคิดสานฝันสารพัด การประเมินตัวเลขมูลค่าธุรกิจสูงลิ่วที่สามารถกลบเกลื่อนข้อบกพร่องโมเดลธุรกิจและการบริหารงานได้ สำหรับใครที่อยากติดตามต่อ สามารถหาชมซีรีส์ WeCrashed ใน Apple TV ที่ได้ตีแผ่เรื่องราวการพุ่งขึ้นและร่วงต่ำสุดภายในปีเดียว หรืออ่านเรื่องราวต่อในหนังสือที่ชื่อว่า The Cult of We : Wework and the Great Start-Up Delusion
อ้างอิง Business Insider , Business Insider2, TheGuardian, Techcrunch, Forbes , Wall Street Jounal , Picthbook