โดยก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารของ WeWork ชุดล่าสุด ได้ออกมาประกาศว่า บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะชำระเงิน และอยู่ในช่วงดำเนินการเจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ ด้วยแผนปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ พร้อมกับจัดทำแผนฟื้นฟูสถานะทางการเงินของบริษัทให้ได้ภายใน 1 ปีนี้
สืบเนื่องหลังจากการเปิดเผยแบบแสดงข้อมูลรายการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ WeWork ถูกตั้งข้อสงสัยหนักหน่วงว่า ‘เสี่ยงล้มละลาย’ เพราะบริษัทมีกระแสเงินสดติดลบจากการดำเนินงาน ทำให้เกิดข้อกังขาอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ อีกทั้งการต่อสู้กับหนี้สินระยะยาวสุทธิ 2.9 พันล้านดอลลาร์ และสัญญาเช่าระยะยาวมากกว่า 13 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ WeWork ได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายตามบทบัญญัติที่ 11 ซึ่งจำกัดเพียงสาขาที่ตั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น ไม่รวมผู้ที่ได้รับแฟรนไชส์ในประเทศอื่น นอกจากนี้ในเอกสารได้ระบุถึงจำนวนหนี้สินบริษัทในจำนวน 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมเหตุผลถึงการปรับตัวต่อไปไม่ไหว
Wework คือ ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่สำนักงาน หรือที่เรียกกันว่า Co-working Space โดยมี อดัม นอร์มัน (Adam Neumann) ผู้ร่วมก่อตั้งและผลักดันให้ Wework โดดเด่นในหน้าสื่อและนักลงทุน WeWork ขึ้นแท่นยูนิคอร์นสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาด ถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2019 จากการสนับสนุนเงินทุนจาก SoftBank รวมถึง BlackRock และ Goldman Sachs ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งหลังจากล้มเหลวใน IPO ท่ามกลางข้อครหาถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัท
แม้ว่า WeWork จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กผ่านวิธีการ SPAC ได้หลังจากนั้น แต่ก็ยังอยู่ภายใต้มรสุมความเชื่อมั่นที่ลดลงจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม WeWork ก็ไม่สามารถสร้างการเติบโตของรายรับและทำกำไรได้ตามแผน จนกระทั่งมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดที่ได้ซ้ำเติมธุรกิจหลัก เพราะมาตรการกักตัวในที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้คนทั่วโลกต้องทำงานจากที่บ้าน ผู้คนบอกเลิกสัญญาเช่าออฟฟิศกะทันหัน ตามด้วยการปิดพื้นที่ให้เช่าหลายสิบแห่ง ต่อเนื่องด้วยภาคธุรกิจและเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองถ้วนทั่วกัน