คัมภีร์สูตรสำเร็จมักบอกให้เราเริ่มต้นธุรกิจด้วยความแตกต่าง ‘ของต้องห้าม’ คือ การรีบกระโดดเข้าสู่ ‘Red Ocean’ เพราะปลาเล็กอาจตายน้ำตื้นด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่แก่กล้าพอจะต่อกรกับเสือสิงห์กระทิงแรดในสนามได้
แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ มาร์คัส วิลลิก (Markus Villig) ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง ‘โบลต์’ (Bolt) แอปพลิเคชันเรียกรถสัญชาติเอสโตเนีย ที่ในขณะนั้นโลกได้ถือกำเนิด ‘อูเบอร์’ (Uber) แอปฯ เจ้าตลาดในปี 2009 มาก่อนหน้าแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ‘มาร์คัส’ ยังปักธงเริ่มต้นธุรกิจในวัย 19 ปี เดิมพันด้วยการลาออกจากมหาวิทยาลัยในขณะที่ธุรกิจยังไม่ได้มีมูลค่าสูสีเทียบเคียงกับอูเบอร์ เพราะเชื่อว่า ตนเอง ‘รู้ใจ’ ผู้ใช้งานเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ ‘เกมราคา’ แต่ยังเลือกจะสร้างรากฐานให้มั่นคงหนักแน่น ไม่ด่วนใจเร็วติดสปีดธุรกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน แต่เลือกที่จะพุ่งเป้าไปยัง ‘โฟกัส’ ของแบรนด์ และการหา ‘Pain Point’ ที่ยังไม่มีใครถอดสลักได้
‘มาร์คัส วิลลิก’ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า ตนมีเป้าหมายตั้งแต่อายุ 12 ปีว่าต้องการสร้างบริษัทเทคโนโลยีของตัวเอง เขาเริ่มธุรกิจจาก การสำรวจ ‘Pain Point’ ส่วนตัว จากนั้นจึงขยายไปยังเพื่อนรอบข้างว่ามีใครพบเจอปัญหาการเรียกรถบ้าง ปรากฏว่า มีคนประสบปัญหาแบบเดียวกันไม่น้อย มาร์คัสจึงเริ่มทำแอปฯ เรียกรถง่ายๆ แบบ ‘ธุรกิจในครัวเรือน’ ในนาม ‘Taxify’ เมื่อเริ่มไปได้สวย เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยในวัย 19 ปี และทำให้ต่อมา มาร์คัส วิลลิก ในวัย 25 ปี ขึ้นสู่ทำเนียบผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่อายุน้อยที่สุดในยุโรป
สูตรสำเร็จของมาร์คัสเริ่มจากการทำในสิ่งที่สนใจและเป็นเรื่องที่ลูกค้าต้องการ อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่า มาร์คัสจุดไฟจาก ‘Pain Point’ ของตนเองก่อน จากนั้นจึงพบว่า มีคนประสบปัญหาแบบเดียวกันมากมาย แม้ว่าในตอนนั้นจะมี ‘อูเบอร์’ แล้วก็ตาม แต่มาร์คัสก็ได้ค้นพบช่องโหว่สำคัญอย่างรูปแบบการชำระเงินของอูเบอร์ที่รับเฉพาะบัตรเครดิตเท่านั้น โดยมีบางประเทศที่อูเบอร์เข้าไปทำการตลาดก่อนแล้วแต่ธรรมชาติของผู้คนในท้องถิ่นนิยมใช้เงินสดมากกว่า ‘โบลต์’ ที่ยังมีขนาดเล็กจึงสามารถปรับตัวได้ไม่ยากนัก
ในขณะที่ ‘อูเบอร์’ หรือกระทั่ง ‘แกร็บ’ (Grab) ที่เริ่มแตกไลน์ธุรกิจไปยังตลาดเดลิเวอรี่ ส่งพัสดุ รวมถึงมีรูปแบบรถให้เลือกหลากหลายตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ไปจนถึงรถหรู ‘โบลต์’ ยังคงโฟกัสที่ธุรกิจเรียกรถอย่างเดียว โดยในช่วงแรกยังเริ่มต้นเพียงรถยนต์เท่านั้นด้วย มาร์คัสบอกว่า ในฐานะผู้ประกอบการคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับไอเดียอื่นๆ มากมาย คู่แข่งเราทำอะไรอยู่ เจ้าตลาดไปถึงไหนแล้ว ความต้องการของผู้บริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างไร ฯลฯ มาร์คัสบอกว่า ท้ายที่สุดแล้วเราจะค้นพบความจริงที่ว่า ไม่มีใครทำทุกอย่างพร้อมกันได้ นี่คือเหตุผลที่ ‘โบลต์’ เลือกทำทีละอย่าง โดยใน 5 ปีแรกของบริษัท มาร์คัสเลือกทำเพียงธุรกิจเรียกรถอย่างเดียวเท่านั้น
เขาค่อยๆ เรียนรู้ความต้องการของผู้คนแต่ละพื้นถิ่นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตลาดในยุโรปและเอเชียไม่มีทางเหมือนกันไปทั้งหมด ในเวลาต่อมาจึงค่อยๆ ขยายสัดส่วนรถรับจ้างไปยังสกูตเตอร์ไฟฟ้า และฟู้ด เดลิเวอรี่ เขามองว่า ธุรกิจเรียกรถเป็นเพียง ‘Scratching the surface’ หรือจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ‘โบลต์’ จะยังเติบโตต่อไป สำหรับประเทศไทยในตอนแรกมีเพียงรถยนต์และรถแท็กซี่ รวมถึงรูปแบบการชำระเงินก็มีเพียงการจ่ายเงินสดด้วย ซึ่งปัจจุบันโบลต์ได้เพิ่มมอเตอร์ไซค์เข้ามาในตัวเลือก รวมถึงการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตที่ได้รับความนิยมมากกว่า
แม้ว่าตำแหน่งผู้บริหารจะเน้นมองภาพรวมมากกว่าลงมือทำ แต่มาร์คัสกลับคิดต่างออกไป เขากันตารางตัวเองในทุกๆ สัปดาห์เพื่อโฟกัสกับการพัฒนาโปรดักต์เชิงลึก ยกตัวอย่างเช่น ในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม มาร์คัสจะลงลึกวิเคราะห์รายละเอียดธุรกิจในเมือง A ทุกซอกทุกมุม ราคาของโบลต์ในเมืองนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ ได้รับการตอบจากผู้บริโภคอย่างไร รายได้คนขับเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ เขามองว่า การลงรายละเอียดเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารไม่ควรมองข้าม
ตรงกันข้ามกับเรื่อง ‘คน’ สิ่งเดียวที่เป็นระเบียบบังคับพนักงานในองค์กร คือ ทุกคนต้องสื่อสารกันผ่าน ‘สแล็ค’ (Slack) นอกเหนือจากนี้ทุกคนสามารถเลือกหาเครื่องมือหรือโซลูชันอื่นๆ ในการทำงาน-บริหารจัดการทีมได้ตามความถนัด นอกจากนี้ มาร์คัสยังเลือกจ้างพนักงานจากคุณสมบัติการเป็น ‘Active Learner’ มากกว่าเลือกคนมีประสบการณ์ มองว่า หากมีแรงจูงใจมากพอคนเหล่านี้จะวิ่งตามคนเก่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและทำงานได้ดีขึ้นเอง
ด้วยมุมมองแบบนี้ ทำให้มาร์คัสเลือกมองในสิ่งที่ลงรายละเอียดอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า ในที่นี้รวมถึงการเลือกเจาะตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมากกว่าเลือกจากขนาดของก้อนเค้ก รู้หรือไม่ว่า ‘โบลต์’ เริ่มเจาะธุรกิจในแถบแอฟริกาและยุโรปกลางเป็นอันดับแรกซึ่งเป็นตลาดที่มักถูกมองข้าม การแข่งขันที่น้อยกว่าบวกกับการเติบโตของสมาร์ทโฟนดัน ‘โบลต์’ สร้างยอดมูลค่าพันล้านดอลลาร์ได้ก่อนใคร
การสยายปีกของยูนิคอร์นตัวนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ถูกคิดมาอย่างรอบด้านแล้ว แม้ในน่านน้ำเดียวกันจะมีคู่แข่งครองตลาดก็ตาม การใช้จุดแข็งของตัวเอง บุกตลาดที่หลายคนมองข้าม แก้ ‘Pain Point’ ให้ถูกจุด และไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับคนทำงาน คือ หัวใจสำคัญที่ส่งให้แอปพลิเคชันเรียกรถของเศรษฐีอายุน้อยร้อยล้านประสบความสำเร็จ
อ้างอิง CNBC , GQ Magazine , Forbes , Sky