ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ธนาคารกรุงศรี ผนึก เครือข่ายพันธมิตรสตาร์ทอัพครั้งใหญ่ นำโดย ไทย-ญี่ปุ่น-กัมพูชา จัด 'Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2023' งานจับคู่เจรจาธุรกิจสตาร์ทอัพครั้งแรกในอาเซียน
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีฯ กล่าวว่า กรุงศรีฯ มีจุดมุ่งหมายสร้างอีโคซิสเต็มให้สตาร์ทอัพด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุน ความรู้ด้านเทคโนโลยี ข้อมูลธุรกิจ และด้วยจุดแข็งของเครือข่ายธุรกิจและความร่วมมืออันแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) และการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (ESG-Linked Business) ตลอดจนประสบการณ์ในการจัดงาน Business Matching อันเป็นหนึ่งในบริการที่โดดเด่นของกรุงศรีฯ ในการสร้างพื้นที่เชื่อมโยงทางธุรกิจและความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยว่า การจัดงานจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพในครั้งนี้กรุงศรีฯ ต้องการสนับสนุนอีโคซิสเต็มแก่และสร้างความเชื่อมโยงต่อสตาร์ทอัพและนักลงทุนทั่วอาเซียน โดยคาดหวังให้เกิดดีลอย่างน้อย 10 ดีล ภายใน 3 ปีนี้
ด้าน นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สตาร์ทอัพไทยเคยระดมทุนสำเร็จร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรญี่ปุ่นด้วยกัน 3 ดีล ได้แก่ Ricult สตาร์ทอัพด้าน AgriTech, ChocoCRM ผู้พัฒนา Digial CRM Platform และ Wisesight ผู้พัฒนาด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล
โดยปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุน (CVC) ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ ได้จัดตั้งกองทุนสตาร์ท ที่เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งไทยและในอาเซียน สำหรับนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน และองค์กรที่สนใจลงทุนในสตาร์ทอัพ ดำเนินการผ่าน Finnoventure Fund และ Finnoventure Private EquityTrust I ขนาด 3,000 ล้านบาท เน้นลงทุนระดับซีรีส์ A ขึ้นไป ในกลุ่ม FinTech, Ecommere, Automotive และกลุ่ม Post-Pandemic Boom Startup ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพอยู่ในพอร์ตการลงทุนจำนวน 19 ราย โดยมี FINNOMENA เป็นสตาร์ทอัพรายล่าสุดที่พึ่งปิดการระดมทุน
ทั้งนี้ นายแซม เปิดเผยถึงผลงานในปีที่ผ่านมา กองทุน Finnoventure Fund ได้ใส่เงินลงทุนไปแล้วใน 9 กิจการ และสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 14% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตขของสตาร์ทอัพที่มีผลดำเนินการในทิศทางที่เป็นบวก
สำหรับเป้าหมายแรกในปีนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต เตรียมเงินลงทุนรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,350 ล้านบาท พร้อมจัดตั้งกองทุนใหม่ ที่จะมุ่งเป้าไปที่ระดับพรีซีรีส์ A เพื่อที่จะพัฒนาสู่ ซีรีส์ A และจะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่เติบโตตามเทรนด์โลก สามารถต่อยอดธุรกิจกับธนาคารและกลุ่มพันธมิตรนักลงทุน
โดยเล็งเพิ่มทุนในสตาร์ทอัพระดับซีรีส์ B ภายใน 1-2 เดือนนี้ จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย สตาร์ทอัพไทย จำนวน 2 ราย และสตาร์ทอัพเวียดนาม 1 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย โดยเป็นการร่วมลงทุนกับ MUFG และจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม Green Finance และ FinTech โดยคาดหวังผลตอบแทนของกองทุนที่เพิ่มขึ้นเป็น 20-25% ต่อปีในระยะยาว เนื่องจากการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะสร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปที่ 15%
นอกจากนี้อีกหนึ่งเป้าหมาย คือ การปั้นสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ให้สำเร็จภายใน 3-5 ปี สำหรับเป้าหมายระยะยาว กรุงศรี ฟินโนเวต ต้องการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพในพอร์ตให้ถึง 30 บริษัท และขยายการลงทุนสู่ตลาดอาเซียน นายแซม กล่าว
สำหรับงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2023 มีเครือข่ายพันธมิตรผู้ร่วมจัดงาน นำโดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสถานบันการเงินในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (The Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Techo Startup Center และ Khmer Enterprise หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของประเทศกัมพูชา
ไฮไลต์ภายในงานครั้งนี้ นับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ 60 บริษัทจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับ Early Stage ในกลุ่ม HealthTech, Aging Society, Marketplace, FinTech, Logistics, ESG, และ Carbon Credit ได้มา Pitiching & Matching แผนงานธุรกิจและพบกับบรรดานักลงทุนมากกว่า 160 บริษัทชั้นนำจากหลายประเทศในที่เดียว ทั้งนี้ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไทยจำนวนมากที่เข้าร่วมอย่างกลุ่มเอสซีจี เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่ม ปตท.
การรวมตัวกันของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สตาร์ทอัพดาวรุ่งสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Zeroboard ที่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการคำนวณและการแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและซัพพลายเชน
DoctorTool สตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางไกล และการจัดจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากประเทศอินโดนีเซีย และคอมมูนิตี้สตาร์ทอัพจากกัมพูชา นำโดย Nham24 มาร์เก็ตเพลสซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารและเรียกแท็กซี่อันดับหนึ่งในประเทศกัมพูชา