ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดการแข่งขัน SET Hackathon 2023 ภายใต้ธีม Wealth and Sustainability ครั้งแรกสำหรับบุคคลทั่วไปแข่งขันเพื่อนำเสนอไอเดียการนำฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มาใช้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นำไปประกอบการวิเคราะห์และพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
โดยมอบรางวัลให้แก่ทีมที่เสนอไอเดียรวม 4 รางวัล โดยทีม “ESG EZ Invest” ที่ประกอบด้วยวิศวกร และนักวิเคราะห์จาก 2 บริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเสนอไอเดียการนำข้อมูล ESG data platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึง Sustainable Investing ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดการแข่งขัน SET Hackathon 2023 ภายใต้ธีม Wealth and Sustainability เพื่อส่งเสริมการนำฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้าน ESG มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่จะส่งเสริมผู้ลงทุนและบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดการแข่งขัน SET Hackathon 2023 ขึ้น เพื่อส่งเสริมการนำข้อมูลด้าน ESG มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดย SET Hackathon 2023 เปิดกว้างให้ผู้ร่วมแข่งขันได้เสนอแนวคิด ความสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมจากการนำฐานข้อมูลด้าน ESG มาใช้ โดยมีผู้ส่งไอเดียร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 69 ทีม ซึ่งมาจากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา บริษัทจดทะเบียน บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วิศวกร นักวิเคราะห์ ที่ปรึกษาทางการเงิน รวมถึงผู้ลงทุน ทำให้เกิดไอเดียที่หลากหลายและสร้างสรรค์”
“และผ่านเข้าสู่รอบชิงรางวัล 12 ทีม ทุกทีมได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคโนโลยี data analytic และด้านความยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งไอเดียที่ได้รับรางวัลจะถูกนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างยั่งยืน” ศรพล กล่าว
การแข่งขัน SET Hackathon 2023 กำหนดโจทย์ “เราจะช่วยให้ผู้ลงทุนและบริษัทจดทะเบียนไทยใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้าน ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ทีมที่แข่งขันในรอบชิงรางวัล 12 ทีม ได้นำเสนอไอเดีย (pitching) แก่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผลการตัดสิน ดังนี้