สรุปมุมมองผู้ว่าธปท. บนเวที SFF 2024 เศรษฐกิจที่ดีไม่จำเป็นต้องวัดจาก GDP  แต่เป็นคุณภาพชีวิตของคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุปมุมมองผู้ว่าธปท. บนเวที SFF 2024 เศรษฐกิจที่ดีไม่จำเป็นต้องวัดจาก GDP แต่เป็นคุณภาพชีวิตของคน

Date Time: 8 พ.ย. 2567 19:36 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยมุมมองใหม่ของระบบการเงินไทย บนเวที "Singapore FinTech Festival 2024" ควรมุ่งเน้นที่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มากกว่าแค่การเติบโตของตัวเลข พร้อมชูแนวคิดสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการการเงิน ลดต้นทุน และขยายบริการดิจิทัล เช่น การเชื่อมโยงระบบชำระเงินข้ามพรมแดน เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มมีโอกาสทางการเงินที่ยั่งยืน

Latest


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาบนเวที “Thailand's Digital Finance Journey: Lessons for ASEAN” ภายในงาน “Singapore FinTech Festival 2024” งานที่รวบรวมสปีคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญ และบริษัทต่าง ๆ ด้านการเงิน ธนาคาร เทคโนโลยี ไปจนถึงฝ่ายกำกับดูแลจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มาร่วมกันเสนอแนวคิดและออกแบบแนวทางด้านการเงิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยงานนี้จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ในระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2024

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บนเวทีงาน Singapore FinTech Festival 2024
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บนเวทีงาน Singapore FinTech Festival 2024

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเผยมุมมองและภาพรวมทางการเงินของประเทศไทยต่อเวทีโลก โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ย้ำว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายเดียว แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการการเงินของคนไทยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมชูการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน เช่น การชำระเงินข้ามพรมแดนและการรวมบริการดิจิทัล เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ประโยชน์และสามารถก้าวไปพร้อมกับเศรษฐกิจยุคใหม่

ผู้สื่อข่าว Thairath Money เข้าร่วมฟังการเสวนาดังกล่าว สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

ประเทศไทยกับการพัฒนาระบบการเงินที่ยั่งยืน

ประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับความต้องการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการการเงินให้กับคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากต้นทุนการดำเนินการและค่าธรรมเนียมบางประเภทยังเป็นอุปสรรคที่ต้องจัดการ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้

นอกจากนี้ ทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลแบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการในการใช้งาน โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้เผยมุมมองเพิ่มเติมว่า มีความหวังและต้องการให้ระบบยืนยันตัวตนของไทยจะสามารถเชื่อมโยงให้เป็นหนึ่งเดียวได้แบบ “SingPass” ของสิงคโปร์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้สะดวกมากขึ้น

ปัจจุบันในประเทศไทย แม้ว่าจะมีระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลหลายรูปแบบ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (Thai ID) และ National Digital ID แต่การดำเนินงานที่ยังคงกระจัดกระจาย ขาดการเชื่อมโยงที่เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้น หากสามารถรวมโครงสร้างเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ จะช่วยให้บริการดิจิทัลของภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น

3 เป้าหมายหลักเพื่อการกำกับดูแลการเงินไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้ว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีไม่จำเป็นต้องวัดจากการเติบโตของ GDP เพียงอย่างเดียว ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการการเงิน (Financial Inclusion) เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีความยั่งยืน และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับภาคครัวเรือนได้ และนอกจากการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาวด้วย

โดยการพัฒนาระบบการเงินไทยยังคงโฟกัสไปที่เป้าหมายหลัก 3 ประเด็น ได้แก่

  • ประสิทธิภาพ (Efficiency): การพัฒนาระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน ที่จะง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
  • ความเท่าเทียม (Inclusion): การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการการเงินอย่างเท่าเทียมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และให้โอกาสที่ทุกคนสามารถมีความมั่นคงทางการเงินได้
  • เสถียรภาพและความปลอดภัย (Stability and Safety): การส่งเสริมแนวป้องกันหรือ “Guardrails” เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เป็นสิ่งสำคัญ และเพื่อรับมือกับการโจมตีจากไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายจำนวนมหาศาล ให้ระบบการเงินมีความเสถียรภาพและปลอดภัยในระยะยาว

หนุน Cross-Border Payment จับมือแบบ Multilateral

ในการเชื่อมโยงระบบการเงินของไทยกับต่างประเทศ ดร.เศรษฐพุฒิ เน้นย้ำถึงประเด็นความสำคัญของการพัฒนาระบบชำระเงินข้ามพรมแดน (Cross-Border Payments) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างประเทศ ระบบนี้จะช่วยลดต้นทุนและลดขั้นตอนในการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีค่าธรรมเนียมที่สูงและใช้เวลานาน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้รายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเหล่านี้

ภาพรวมระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนในอาเซียนที่ปัจจุบันเชื่อมถึงกันได้
ภาพรวมระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนในอาเซียนที่ปัจจุบันเชื่อมถึงกันได้

แนวคิดนี้มุ่งสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น การขยายระบบพร้อมเพย์ที่รองรับธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถทำธุรกรรมกับประเทศอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มเดียวที่ทั้งสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย

อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจในไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางอย่าง SMEs สามารถขยายการค้าระหว่างประเทศได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาต้นทุนที่สูง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบการเงินที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับประชาชน ทั้งหมดนี้จะเป็นรากฐานสำคัญสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ