11 แบงก์ไทยตื่นตัว ESG  คะแนนความยั่งยืนพุ่ง แซงหน้าญี่ปุ่น ทฤษฎีแน่น แต่ยังติดหล่มภาคปฏิบัติ

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

11 แบงก์ไทยตื่นตัว ESG คะแนนความยั่งยืนพุ่ง แซงหน้าญี่ปุ่น ทฤษฎีแน่น แต่ยังติดหล่มภาคปฏิบัติ

Date Time: 4 ก.พ. 2568 19:48 น.

Video

Nokia ทำยังไง? ทุกวันนี้ถึงทำธุรกิจสบายกว่าตอนขายมือถือ | Digital Frontiers

Summary

  • แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผยรายงานผลการประเมินความยั่งยืน 11 แบงก์ไทย
  • พบคะแนนความยั่งยืนพุ่ง 28.36% ในปี 2567 ttb ยังครองอันดับ 1 ชี้จุดแข็งเปิดเผยข้อมูลดี แต่ภาคปฏิบัติยังอ่อนแอ
  • แนะทุกหน่วยงานร่วมกำหนดกฎหมาย ผลักดันแบงก์ไทยบรรลุ Net Zero

Latest


ปัจจุบัน ธนาคารไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติและต้องปรับตัวรับมือกับภาวะโลกรวน โดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นผู้จัดหาเงินทุนให้กับธุรกิจต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งมาพร้อมกับหน้าที่การเปิดเผยข้อมูล การประเมินโอกาสและความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างมาตรฐานทางการเงินและกำหนดแนวทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2050

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย หรือ Fair Finance Thailand ได้เปิดเผยรายงานผลการประเมินธนาคารไทยตามเกณฑ์ "แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ" ปีที่ 7 ซึ่งทำการประเมินนโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินตามมาตรฐานสากลความยั่งยืน (Fair Finance Guide International 13) ในงานเสวนาหัวข้อ “การปรับตัวรับโลกรวนและคะแนน ESG ของภาคธนาคารไทย”

ในรายงานดังกล่าวเผยแพร่ผลการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของสถาบันการเงินไทย 11 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ในปี 2567 พบว่าในภาพรวมธนาคารไทยได้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 25.94% ในปี 2566 เป็น 28.36% ในปี 2567 โดยเรียงลำดับคะแนนจากมากไปน้อยดังนี้

1. ธนาคารทหารไทยธนชาต (42.96%)
2. ธนาคารไทยพาณิชย์ (38.65%)
3. ธนาคารกสิกรไทย (37.25%)
4. ธนาคารกรุงเทพ (30.63%)
5. ธนาคารกรุงไทย (29.57%)
6. ธนาคารออมสิน (27.67%)
7. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (25.55%)
8. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (24.59%)
9. ธนาคารทิสโก้ (19.32%)
10. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (18.64%)
11. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (17.15%)

โดยมีอันดับธนาคารที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อันดับสองเป็นต้นไป โดยธนาคารไทยพาณิชย์ขยับจากอันดับที่ 4 มาเป็นอันดับที่ 2 แทนที่ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพขยับจากอันดับที่ 5 มาเป็นอันดับ 4

สาเหตุที่คะแนนเฉลี่ยของธนาคารทั้ง 11 แห่งปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารหลายแห่งได้ปรับปรุงนโยบายที่สอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินมากขึ้นและเปิดเผยสู่สาธารณะหรือมีการลงนามในมาตรฐานสากลหรือแนวปฏิบัติในการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ UN Global Compact (UNGC) หรือ Equator Principles ประกอบกับแนวร่วมฯ มีการปรับปรุงการให้คะแนนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของธนาคาร ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยในปีนี้เพิ่มขึ้น

สรุปพัฒนาการความยั่งยืนแบงก์ไทย

  • ธนาคารไทยโดยรวมตื่นตัวเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น แต่ยังขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน
  • ธนาคารหลายแห่งเปิดเผยรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อแนะนำของ TCFD แต่ระดับการเปิดเผยข้อมูลยังไม่เท่ากัน โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับพอร์ตที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุน
  • ยังไม่มีธนาคารไทยแห่งใดเปิดเผยแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transition plan) รายภาคที่มีกำหนดเวลาชัดเจนในการทยอยลดการสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงในพอร์ตสินเชื่อและพอร์ตการลงทุนของธนาคาร
  • ธนาคารไทยโดยรวมตื่นตัวมากขึ้นต่อการรับมาตรฐานสากลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่ยังขาดความชัดเจนและความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ
  • ธนาคารส่วนใหญ่ประกาศเคารพหลักการชี้แนะ UNGPs แต่ในภาพรวมยังขาดความชัดเจนและความสม่ำเสมอในการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะ UNGPs เช่น ขาดความชัดเจนว่าผู้มีส่วนได้เสียของลูกค้าธนาคารสามารถเข้าถึงกลไกรับเรื่องร้องเรียนของธนาคารในการสะท้อนข้อกังวลต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้าธนาคารได้
  • คะแนนเฉลี่ยของธนาคารไทยตามมาตรฐานสากลความยั่งยืนสูงกว่าอินโดนีเซียและญี่ปุ่น และทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย

โอกาสและความท้าทายแบงก์ปรับตัวสู่ ESG

ทุย ทู บุย (Thuy Thu Bui) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุน กลุ่มสถาบันการเงิน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) มองว่าโอกาสทางธุรกิจของภาคการเงินจากการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน (ESG) คือ โอกาสในการจัดหาเงินทุนรองรับการเติบโตของธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2558 ทั่วโลกมีการออกกรีนบอนด์ไปแล้ว มูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับความท้าทายของภาคธนาคารในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ ESG มีด้วยกัน 3 ข้อ

1. ความสามารถของธนาคารในการเข้าใจโอกาสและความเสี่ยงทางการเงินจากภาวะโลกรวน เพื่อที่จะมองหาโอกาสสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับกระแส ESG

“ขีดความสามารถภายในธนาคารเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือภาคธนาคาร ต้องร่วมกันส่งเสริมให้ภาคการเงินมีขีดความสามารถดังกล่าว”

2. ความชัดเจนแนวทางรับมือภาวะโลกรวนของหน่วยงานกำกับดูแล เช่น รัฐบาล, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยการจัดทำ Thailand Taxonomy หรือมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว การขับเคลื่อนไปสู่ระยะที่ 2 จึงสำคัญมาก หน่วยงานกำกับดูแลต้องกำหนดแนวทางสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถเปิดเผยข้อมูลนโยบายและแนวปฏิบัติทางการเงินเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (ESG) ด้านต่างๆ ในระดับที่ใกล้เคียงกัน “การเปิดเผยข้อมูลทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพโอกาสและความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่”

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะภาคการเงิน แม้สถาบันการเงินจะมีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน แต่หากขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจออกบทลงโทษและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคส่วนต่างๆ ก็เป็นเรื่องยากที่ธนาคารจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามกรอบ ESG ของธนาคารไทยเกิดขึ้นจริงและมีตัวชี้วัดได้ตามมาตรฐานโลก และนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นจริง

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ