“ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนต่ำ”

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนต่ำ”

Date Time: 1 ก.พ. 2568 06:00 น.

Summary

  • บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development ผู้พัฒนาและบริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ มีนโยบายสร้างความสุขที่ยั่งยืนทั้งในมิติสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับชีวิตให้กับข้าราชการ

Latest

11 แบงก์ไทยตื่นตัว ESG  คะแนนความยั่งยืนพุ่ง แซงหน้าญี่ปุ่น ทฤษฎีแน่น แต่ยังติดหล่มภาคปฏิบัติ

บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development ผู้พัฒนาและบริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ มีนโยบายสร้างความสุขที่ยั่งยืนทั้งในมิติสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับชีวิตให้กับข้าราชการ พนักงานที่ทำงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ประชาชน และชุมชนรอบข้าง

กรรมการผู้จัดการ ธพส. “นาฬิกอติภัค แสงสนิท” เล่าว่า จุดสำคัญของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะแห่งนี้ คือ การแก้ไขปัญหา คือ ปัญหาการจราจร ความเร่งรีบของการใช้ชีวิตในสถานที่ทำงานซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเช้า และช่วงเย็นหลังเลิกงาน ดังนั้นจึงนำปัญหามาแก้ไข ด้วยการเพิ่มเส้นทางการจราจรภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ให้สามารถระบายรถได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรุงเทพมหานคร ร่วมแก้ไขปัญหาการจราจรแบบบูรณาการ ตัดถนน 2 เส้นทาง คือถนนหมายเลข 8 เชื่อมต่อไปยังถนนกำแพงเพชร 6 เพื่อเชื่อมต่อไปยังถนนวิภาวดีรังสิต และถนนหมายเลข 10 เชื่อมต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กับถนนประชาชื่น ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว และประมาณเดือน มี.ค.2568 ได้เตรียมเปิดใช้อุโมงค์ทางลอดในซอยแจ้งวัฒนะ 7 ช่วงระหว่างอาคาร B กับอาคาร C แล้วสร้างสวนสาธารณะให้คนเดินอยู่ด้านบนช่วยเพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธพส.ได้กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2566–2570) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่สังคม จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ Urban Space “ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนต่ำ” ด้วยการพัฒนาพื้นที่ 378 ไร่ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นเมืองสีเขียว เป้าหมายต้องการให้ทุกคนในศูนย์ราชการได้ทำงานอย่างมีความสุข ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และมอบสิ่งแวดล้อมในรูปแบบพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนสวย ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน ประชาชนและชุมชนรอบข้างก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้

สำหรับการพัฒนาเมืองแบบ Urban Space เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ดำเนินการด้วย 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาเมืองให้ส่งเสริมการเดินเท้า Walkable City ลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 2. ปรับพื้นที่เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เพื่อให้ผู้คนใช้งานและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ Healthy City และ 3.พัฒนาเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ Low Carbon City ลดการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่

จาก 3 แนวคิด จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาสวน 5 แห่ง ได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มประมาณ 40.6 ไร่ ได้แก่ สวนลอยฟ้าอาคารจอดรถ A สวนหลังศาลพระพรหม สวนเกาะกลางถนนและทางเท้า สวนบนอุโมงค์ทางลอด และสวนหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี เป็นต้น

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้ EV Shuttle Bus ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างอาคารจอดรถ D ด้านหน้าของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการจราจรจากระบบขนส่งสาธารณะ มุ่งสู่การเป็น Carbon Neutral รวมถึงการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักธรรมาภิบาลและเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความพึงพอใจ และสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ใช้บริการอีกด้วย

สำหรับพันธกิจการบริหารงานของ ธพส.นั้น ในปี 67 คาดว่าจะมีรายได้จากการบริหารจัดการค่าเช่าพื้นที่พาณิชย์ และอื่นๆมากกว่า 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มีรายได้ 2,907 ล้านบาท และในปี 67 ได้ลงนามกับหลายส่วนราชการเพื่อดำเนินการพัฒนาอาคารสำนักงานให้ เช่น กรมสรรพากร ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของกรมสรรพากร ซอยสุขุมวิท 11 วงเงินลงทุน 992 ล้านบาท อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ย่านเอกมัย และอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ