ถ้าเปรียบเทียบโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ที่บริหารโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อนับจากขวบปีแรกของการเริ่มต้นในปี 2531 ได้ขยายผลไปในพื้นที่ต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
ได้นำแนวทางปลูกป่า ปลูกคน สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จวบจนปัจจุบันอายุครบ 36 ปี กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวที่ก้าวสู่วัยกลางคน
จึงมาถึงจุดที่ต้องปรับแผนการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่อนาคตที่มั่นคง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงใหม่ และด้วยสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันที่เผชิญปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน จึงจะได้เห็นบทบาทใหม่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในฐานะ “ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน”
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เนื้องานใหม่ในฐานะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Advisory) มาจากที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้รับการยอมรับในเวทีโลกในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และมีบทบาทในเวทีสิ่งแวดล้อมโลกมากยิ่งขึ้นในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ
ขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UNSDGs) เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป้าหมายการหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของโลกภายในปี 2030 นอกจากนี้ ในเวทีด้านการพัฒนาระดับสากลชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการฟื้นฟูธรรมชาติ
“ในปี 2567 นับเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในเดือน ม.ค.-ก.ย. สูงกว่าอุณหภูมิยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และยังมีวิกฤติภัยธรรมชาติที่สร้างผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้าง ผลกระทบจากภัยพิบัติเหล่านี้จะเพิ่มความไม่เท่าเทียม ผลักดันผู้ที่มีความเสี่ยงไปสู่ความยากจนมากขึ้นอีก ทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จึงต้องมีการแก้ปัญหานี้เพื่อบรรเทาและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม”
อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังขาดตัวอย่างการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมในหลายมิติ และเห็นผลลัพธ์ชัดเจน ทางมูลนิธิ จึงพร้อมนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนแบ่งปันให้กับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเป็นที่ปรึกษาเชิงปฏิบัติการ
โดยครอบคลุมประเด็น ดังนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านการวางแผนและทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กรและผลิตภัณฑ์ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะสู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ การทำระบบ Extended Producer Responsibility (EPR) หรือการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์
2.ความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติ ผ่านการประเมินและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกป่าและฟื้นฟูป่า การจัดการน้ำ
3.การพัฒนาชุมชน ผ่านการทำความเข้าใจชุมชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทำโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
มูลนิธิคาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรและสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อให้เกิดความยั่งยืนในองค์กร รวมทั้งการขยายผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง เพื่อช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึง
บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติและความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมอย่างยั่งยืน
สรุปจบท้ายตรงนี้ว่า ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายใดที่มีความสนใจ ติดต่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่