ทิศทางแผงโซลาร์เซลล์

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทิศทางแผงโซลาร์เซลล์

Date Time: 28 ธ.ค. 2567 05:00 น.

Summary

  • เมื่อจีนถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ผ่านนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯเพื่อสกัดกั้นสินค้าของจีน แต่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานของจีน ไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง ทั้งโซลาร์เซลล์ และอีวี ระบบกักเก็บไฟฟ้าและแบตเตอรี่

Latest

เที่ยวอย่างไรให้ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

แนวโน้มและมาตรการกีดกัน และตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะเข้มข้นมากขึ้น หลังจากการเข้ารับตำแหน่ง ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีหน้า

เรื่องนี้ จะส่งผลดีต่อประเทศไทย เพราะจะทำให้ต้นทุนและราคาอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ระบบกักเก็บไฟฟ้าและแบตเตอรี่มีราคาถูกลง ถือเป็นจังหวะที่ดีของคนไทยในการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายเพราะมีราคาที่ถูกลง

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอินโนพาวเวอร์ จำกัด ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อจีนถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ผ่านนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯเพื่อสกัดกั้นสินค้าของจีน แต่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานของจีน ไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง ทั้งโซลาร์เซลล์ และอีวี ระบบกักเก็บไฟฟ้าและแบตเตอรี่

การไม่ลดกำลังการผลิตของจีน ทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพิ่มเติม เพื่อระบายสินค้าส่วนเกินจากการสกัดกั้นสินค้าของ สหรัฐฯ

“ทำให้ในตลาดโลกจะมีทั้งปริมาณอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น แนวโน้มแผงโซลาร์เซลล์ก็จะถูกลง เพราะจีนต้องพุ่งเป้าหาตลาดใหม่ๆ สำหรับอีวี, แบตเตอรี่ อีวีและแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีราคาที่ถูกลง และผลจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษียังส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน และฐานการผลิตสินค้าจากจีนไปยังประเทศที่สาม รวมถึงประเทศไทย หากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและมาตรการ สนับสนุนด้านการลงทุนของไทยจูงใจเพียงพอ”

ล่าสุดความเคลื่อนไหวของภาคพลังงานระดับสากล ที่น่าจับตามองคือการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือและเทคโนโลยีขุดเจาะ เพื่อนำพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านพลังงาน โดยเฉพาะการนำไปผลิตไฟฟ้า เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องแหล่งพลังงาน ซึ่งปัจจุบันแหล่งความร้อนใต้พิภพมีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วโลก

อีกทั้ง ยังเป็นพลังงานหมุนเวียนราคาถูกพอๆ กับโซลาร์เซลล์ แต่สามารถพึ่งพาได้ในแง่ความมั่นคงและเสถียรภาพ และหลายๆประเทศทั่วโลก คาดว่าน่าจะนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ได้ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า

ในส่วนของประเทศไทย ยังคงเป็นผู้นำการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน โดยจะมีการประกาศใช้กฎหมายการเปลี่ยนแปลง สภาวะภูมิอากาศในอีก 1-2 ปีข้างหน้า รวมไปถึงการริเริ่มให้ภาคอุตสาหกรรมไทย ต้องจัดทำรายงานการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Report) อย่างจริงจัง

ที่สำคัญกระบวนการรับรองการผลิตสินค้า ด้วยพลังงานสะอาด (RECs) จากนี้ไป จะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า อินโนพาวเวอร์ ในฐานะผู้นำตลาด RECs ก็จะขยายตลาดไปสู่รายย่อยให้มากขึ้น

โดยมีแผนที่จะให้การรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในกลุ่มประชาชนรายย่อย เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม นอกจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายจำหน่ายเพียงอย่างเดียว

ปี 2568 ตลาด RECs จะมีการแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น จากความเข้มงวดในการกีดกันสินค้าที่มีกระบวนการผลิตลดปลดปล่อยคาร์บอน รวมไปถึงมาตรการของประเทศไทย ได้แก่ มาตรการการจัดเก็บภาษีคาร์บอน มาตรการการจัดทำและให้รายงานการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งพระราชบัญญัติ ภาวะภูมิอากาศที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2569.

อ่าน "คอลัมน์ Sustainable Together" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ