ขนาดความเชื่อที่ใหญ่ของ "หมอใหญ่" ทำให้บรรจุภัณฑ์ "Gracz" มาถึงวันนี้

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขนาดความเชื่อที่ใหญ่ของ "หมอใหญ่" ทำให้บรรจุภัณฑ์ "Gracz" มาถึงวันนี้

Date Time: 21 ก.ย. 2567 05:32 น.

Latest

“TIPMSE” เตือนรับมือ “EPR”

จากคนเรียนหมอ ประกอบอาชีพหมอ จนถึงวันที่อยากไปใช้ชีวิตในแบบอื่นมากกว่า...จากคนที่ถูกธนาคารปฏิเสธเงินกู้ แล้วบอกให้กลับไปเป็นหมอเหมือนเดิม...จากคนที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยเงิน 1 ล้านบาท ตลอด 3 ปีแรกขาดทุนรวม 100 ล้านบาท

....แต่เพราะ “ขนาดความเชื่อ” มันยิ่งใหญ่พอที่จะเอาชนะปัญหา จึง “กล้าที่จะทำต่อ”

....19 ปีผ่านไป ปัจจุบัน บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ “เกรซ” (Gracz) บรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ 100% ย่อยสลายและกลับคืนสู่ธรรมชาติ 100% ของ หมอใหญ่–นพ. วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ มีมูลค่ารวมเกือบ 4,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายต่อไปอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวคิดรักษ์คนรักษ์โลกที่มาก่อนกาลและไม่มีวันเปลี่ยน ก่อให้เกิดเรื่องราวน่าประทับใจตลอดเส้นทางธุรกิจที่คุณหมอคนนี้เลือกเดิน มากเกินพอที่จะทำให้เขาถูกเชิญมาพูดคุยกับทีม “Business on my Way” โฉมใหม่ ประเดิมการกลับมาอีกครั้งของคอลัมน์ฮิตประจำหน้า 14-15 ของทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ...เป็นคนแรก

ย้อนกลับไปเกือบ 40 ปีก่อน นพ.วีรฉัตร เป็นเด็กต่างจังหวัด (เชียงราย) อาศัยอยู่กับครอบครัวฐานะค่อนข้างดี มีธุรกิจปั๊มน้ำมัน พอถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย คนเรียนดี (เช่นคุณหมอ) มีเป้าหมายอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่มีข้อมูลอื่นให้คิดแตกต่างออกไป

พอเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมอใหญ่ถูกส่งไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลอำเภอแม่จัน ทำอยู่ 3 ปี ต้องขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ชีวิตจึงเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ถามตัวเองว่าพร้อมเป็นหมอไปตลอดหรือไม่ คำตอบคือไม่ “ผมอยากไปมีชีวิตตรงอื่นมากกว่า จึงตัดสินใจลาออก ตอนนั้นที่บ้านก็ไม่เห็นด้วย แต่ต้านไม่อยู่”

ลาออกจากราชการ หมอใหญ่ตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านการบริหารสาธารณสุขและการเงิน คว้าเกียรตินิยม 2 สาขาปริญญาโท Master of Health และ MBA Finance

“ผมน่าจะเป็นหมอคนที่ 2 ที่ทำงานการเงิน คนแรกคือหมอระเฑียร (นพ.ระเฑียร ศรีมงคล อดีตซีอีโอ KTC) กลับมาทำงานที่เกียรตินาคิน เพราะอยากรู้เรื่องการเงิน ตอนเรียน MBA อาจารย์สอนว่า กุญแจของความสำเร็จคือการขาย ส่วนกุญแจสู่ความล้มเหลวอยู่ที่การเงิน จัดการการเงินไม่ดี ทำให้ธุรกิจล้มได้”

ทำงานด้านกลยุทธ์การเงินอยู่ 2 ปี หมอใหญ่ลาออกอีกครั้ง เมื่อสะสมประสบการณ์มากพอที่จะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเอง โดยยึดหลักคิด เรียนแพทย์มาทั้งที ต้องไม่สูญเปล่า จึงริเริ่มธุรกิจส่งออกเครื่องมือแพทย์ไปเวียดนาม ซึ่งสมัยนั้นการแข่งขันน้อย เพราะ “บ่อน้ำที่ไม่ค่อยมีใครตกปลา เราจะตกได้เยอะกว่า”

ระหว่างนั้น หมอใหญ่ยังเพาะแบคทีเรียขาย เพื่อนำไปใช้ในการจำกัดกลิ่น นำไปสู่จุดเริ่มต้นของ“เกรซ” ซึ่งมีหลักจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) มาผลิตสินค้า ใช้ทุกอย่างจากธรรมชาติและกลับคืนสู่ธรรมชาติ

“เกรซ” เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่เล็งเห็นถึงอันตรายจากภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ในสมัยที่กล่องโฟมยังเป็นที่นิยม จนมาถึงกล่องพลาสติก ซึ่งไม่ย่อยสยายและเป็นอันตรายต่อมนุษย์มาก เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะ สร้างขยะย่อยสลายยาก เป็นภาระประเทศต้องเสียงบประมาณในการกำจัดปีละหลายหมื่นล้านบาท

โดยมีประเทศเยอรมันเป็นต้นแบบ ในที่สุด “เกรซ” ได้ก่อกำเนิดขึ้นในเดือน ม.ค.2548 บนพื้นที่ 48 ไร่ ริมถนนสายเอเชีย อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ทำธุรกิจคิดค้นผลิตภาชนะจากเยื่อพืชธรรมชาติ โดยเป็นบริษัทแรกในไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ชนิด Biodegradable จากบีโอไอ ภายใต้นวัตกรรมไม่รั่วน้ำและน้ำมัน สามารถใส่อาหารได้ทั้งร้อนและเย็น เข้าไมโครเวฟ เตาอบ และช่องแช่แข็งได้

 แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เกรซผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดูกาล จากทุนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท ผ่านไป 3 ปี ขาดทุนสะสมร่วม 100 ล้านบาท โดยเป็นเงินในส่วนของคุณหมอเอง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งหมอใหญ่ต้องทำเรื่องขอทุนสนับสนุน เพราะไม่มีธนาคารไหนให้กู้เงิน แถมให้คำแนะนำให้เลิกทำโรงงาน กลับไปเป็นหมอดีกว่า

 “ปัญหาขณะนั้นคือการผลิตเพื่อขายจริง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการผลิตในห้องทดลอง และกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมยังไม่ถูกตระหนักรู้มากนัก สินค้ามีราคาสูงเมื่อเทียบกับกล่องโฟม พลาสติก แต่เพราะ “ขนาดความเชื่อ” มันใหญ่ เราจึงกล้าสู้ต่อ”

“ตอนนั้นผมเข้าไปปรึกษาอาจารย์ด้านการตลาด เขาวิเคราะห์ว่า “ราคา” เป็นปัญหาหลัก ตอนนั้นราคาที่เป็นจุดขาย (Price Point) อยู่ที่กล่องละ 2 บาท แต่เราขาย 5 บาท จึงต้องปรับมุมคิดใหม่ ยอมขายขาดทุนเพื่อให้แข่งขันได้ พอขายได้มากขึ้น ผลิตได้เต็มกำลัง (จากที่ผลิตไม่เต็มกำลัง) ก็น่าจะทำให้ต้นทุนลดลงได้ เราเจาะกลุ่มเป้าหมายมหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาให้การตอบรับดีมาก เพราะเห็นว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรากฏเพียงแค่ 6 เดือน เราทำยอดขายเพิ่มขึ้น 4 เท่า ร้าน 7–11 ห้างโลตัสรับของเราไปขาย”

หมอใหญ่เล่าว่า หลังก่อตั้งครบ 7 ปี เกรซสามารถคืนหนี้ให้กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและ สสว.ได้หมดทุกบาททุกสตางค์ และมีกำไรตั้งแต่นั้นมา คาดว่ายอดขายปี 2567 จะอยู่ที่ 840 ล้านบาท กำไรเฉลี่ยปีละ 10% ส่วนปี 2568 ตั้งเป้ายอดขายทะลุ 1,000 ล้านบาทอีกครั้ง เพื่อเดินหน้ากระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปัจจุบันเกรซมีลูกค้าใน 33 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์เกรซในสาขาทั้ง 8 แห่งทั่วโลก, กลุ่ม LuLu ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง, กลุ่มสายการบิน เช่น แอร์ฟรานซ์ ลุฟฮันซ่า การบินไทย รวมทั้งผู้ส่งออกไทย อย่างไทยยูเนียน และ Bueno มีสินค้าผลิตจากเยื่อธรรมชาติทั้งสิ้น 50 สูตร จากชานอ้อย เยื่อไผ่ฟางข้าว เปลือกทุเรียน และมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม

ส่วนเมื่อถามว่า “Business on my Way” ของหมอใหญ่คืออะไร คุณหมอปิดท้ายว่า มีหลักคิดอยู่ 3 ข้อที่อยากแบ่งปัน นั่นคือ 1.ต้องเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น 2.กล้าลงมือทำ ใช้พลังทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า และ 3.ทนในสิ่งที่คนอื่นทนไม่ได้ แต่ต้องทนแบบมีวิธี.

เลดี้แจน

คลิกอ่านคอลัมน์ “Business on my Way” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ