มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกป่า ปลูกคน

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปลูกป่า ปลูกคน

Date Time: 21 ก.ย. 2567 06:01 น.

Summary

  • มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมภาคี ชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศไทยร่วมลงนาม เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

Latest

ขนาดความเชื่อที่ใหญ่ของ "หมอใหญ่" ทำให้บรรจุภัณฑ์ "Gracz" มาถึงวันนี้

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ พร้อมภาคี ชี้ทางรอดจากหายนะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัดและการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศไทยร่วมลงนาม เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580 นอกจากนี้ ไทยก็ได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 หรือเป้าหมาย 30×30

ในเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน : ทางเลือก ทางรอด” เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลง ประกอบด้วย การใช้กระบวนการทางธรรมชาติ (nature-based solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี

“การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน การเดินไปสู่เป้าหมายจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ จะแยกจากกันไม่ได้”

ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นประโยชน์แก่ภาคีต่างๆในระยะยาว นอกจากนี้ ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ ภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชน 258,186 ไร่ มีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน

“ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่พบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย “ปลูกป่า ปลูกคน” ทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต ขณะเดียวกันประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า”

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อวางกรอบกฎหมาย กลไก และเครื่องมือในภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็น ที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พ.ย.2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกำหนดจัดส่งในเดือน ก.พ. ปี ค.ศ.2025 “เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ จึงต้องช่วยกันดูแล และส่งต่อโลกที่ดีและยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป”

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังนำองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่างๆขององค์กรเอกชนเพื่อพาไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชุมชน การบริหารจัดการระบบน้ำ การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการของเสีย โดยการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับตรารับรอง Net Zero Event งานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก “สุทธิเป็นศูนย์” ด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ