นับถอยหลัง “โอลิมปิกปารีส 2024” เกมกีฬาของมวลมนุษยชาติ ที่เป็น Carbon Neutral ครั้งแรกของโลก

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

นับถอยหลัง “โอลิมปิกปารีส 2024” เกมกีฬาของมวลมนุษยชาติ ที่เป็น Carbon Neutral ครั้งแรกของโลก

Date Time: 18 ก.ค. 2567 10:43 น.

Video

“Bulgari” ไทยโอกาสใหม่ Luxury | Brand Story Exclusive EP.5

Summary

  • นับถอยหลัง “โอลิมปิกปารีส 2024” ที่ประเทศฝรั่งเศส พิธีเปิด 26 ก.ค.นี้ กับเกมกีฬาของมวลมนุษยชาติ ที่เป็น Carbon Neutral ครั้งแรกของโลก ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50%

Latest


จากโอลิมปัส เกมกีฬาของคนกรีกโบราณนับพันปี สู่เกมกีฬาของมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก ปารีส 2024” โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33” ซึ่งปีนี้มีประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ค. - 18 ก.ย. 2567 ขณะเดียวกัน ปารีส จะนับเป็นเมืองที่สองต่อจากลอนดอนที่เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนถึง 3 ครั้งด้วยกันในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ขณะ ประเทศไทย ส่งนักกีฬาเข้าร่วม 51 คน เข้าแข่งขันใน 16 ชนิดกีฬา 

ท่ามกลางกระแสฮือฮา ฝรั่งเศส จัดงานใหญ่ในรอบ 100 ปี และนานาประเทศทยอย อวดโฉมชุดนักกีฬาเข้าร่วมพิธีเปิด-ปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงปารีส 2024 ในสไตล์ความสวยงามและมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ขบวนพาเหรดของทัพนักกีฬาแต่ละประเทศจะถูกจัดแสดงนอกสนามเป็นครั้งแรก ไปตามเส้นทางวิวทิวทัศน์สถานที่สำคัญๆ ของปารีส 


อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของโอลิมปิก ปารีส 2024 หากแต่เป็นเกมกีฬาที่เป็น Carbon Neutral หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ครั้งแรกของโลกอีกด้วย ผ่านการดำเนินการ 2 รูปแบบ ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% และชดเชยการปล่อยส่วนที่เหลือด้วยคาร์บอนเครดิต อีกทั้งยังมีการติดตั้ง AI เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย 

โอลิมปิก ปารีส 2024 ลดโลกร้อนอย่างไรบ้าง? 

ข้อมูลจาก Paris 2024 และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โอลิมปิก Paris 2024 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ราว 50% หากเทียบกับปริมาณการปล่อยเฉลี่ยของการจัดงาน London 2012 และ Rio de Janeiro 2016 หรือจำนวน 1.75 ล้านตัน และเป็นระดับที่น้อยกว่าการปล่อย GHG จากงาน Tokyo 2021 (1.9 ล้านตัน) ที่เป็นการจัดงานในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งไม่เปิดให้ผู้ชมเข้างาน

ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของ GHG จะมาจากการเดินทางของผู้ชม และในส่วนที่เหลือจากการบริหารจัดการในด้านต่างๆ เช่น 

  • อาคารและสิ่งปลูกสร้าง: เน้นการใช้สิ่งปลูกสร้างเดิม ควบคู่ไปกับวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ 
  • ไฟฟ้า: ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลมเป็นหลัก
  • การจัดการขยะอาหาร: ที่เน้นใช้วัตถุดิบประเภท Plant-based และลดการใช้อุปกรณ์ประเภทพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  • การขนส่งภายในประเทศ: ผ่านเครือข่ายการขนส่งด้วยรถสาธารณะ เส้นทางรถจักรยาน และรถยนต์พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ไฟฟ้า และไฮโดรเจนสีเขียว

ชดเชยด้วยโครงการคาร์บอนเครดิต

ตามข้อมูล โอลิมปิก Paris 2024 ยังมีแผนชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุด โดยใช้คาร์บอนเครดิตอย่างน้อยจำนวน 1.46 ล้าน tCO2eq ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการประเภทป่าไม้ในฝรั่งเศส 4 โครงการ จำนวน 14,500 tCO2eq ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 11.3 ล้านยูโร

จากการซื้อและพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตในมาตรฐาน Gold Standard และ VCS ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรเนื่องจากจะเป็นกลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ได้แก่ ไนจีเรีย คองโก เคนยา รวันดา เซเนกัล กัวเตมาลา และเวียดนาม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า การจัดงาน Event ในรูปแบบ Carbon Neutral ผ่านการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มได้รับการปฏิบัติเป็นปกติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในงาน Event ระดับใหญ่ๆ เช่น โอลิมปิกปารีส 2024 ครั้งนี้ 

รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ที่ลดการปล่อย GHG เหลือเพียง 0.01% ขณะที่ภาคเอกชนไทยก็มีการจัด Carbon Neutral Event ในรูปแบบสมัครใจจำนวน 253 งาน คิดเป็นการชดเชยคาร์บอนเครดิตจำนวน 47,589 ตันคาร์บอน

พร้อมเชื่อว่าในอนาคตการดำเนินการดังกล่าวอาจมีความเข้มงวดมากขึ้นและมีแนวโน้มเป็นมาตรการภาคบังคับ ซึ่งธุรกิจที่ยังคงปล่อย GHG ในระดับสูง คงต้องพิจารณาหาช่องทางเพื่อลดและชดเชยการปล่อย GHG ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ