ภาพโลโก้ปั๊มน้ำมันสีเหลืองแดงรูปทรงหอยเชลล์ของบริษัทเชลล์ น่าจะเป็นภาพที่ถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนตั้งแต่จำความได้
เป็นเวลากว่า 130 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2435 ที่เชลล์ดำเนินธุรกิจในไทยพร้อมกับประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นนี้ใน 85 ประเทศทั่วโลก โดยในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ‘เชลล์’ มีบทบาทเป็นทั้งผู้นำในตลาดน้ำมันหล่อลื่นและให้บริการด้านพลังงานคู่ขนานกันไป
สิ่งเหล่านี้น่าจะการันตีได้ว่า “เชลล์” เป็นธุรกิจด้านพลังงานที่รักษาการเดินทางของตัวเองอย่างยาวนานและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน อย่างที่ใครๆ ก็เรียกบริษัทนี้ว่า ‘ยักษ์ใหญ่’ แต่ใช่ว่ายักษ์ใหญ่จะไม่ต้องเผชิญกับความท้าทาย
ในโลกยุคใหม่ที่ผันผวน ขึ้นชื่อว่าเป็นยุคของ ‘ดิจิทัล’ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ผู้คนตั้งคำถามถึงความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันกับที่ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ กลายมาเป็นเทรนด์สำคัญ ธุรกิจด้านพลังงานอย่างเชลล์จึงกลายเป็นตัวละครแรกๆ ที่คนทั้งโลกจับตามอง
เชลล์จะเดินทางต่ออย่างไรท่ามกลางความท้าทายเช่นนี้ นี่คือสิ่งที่เราจะพาไปหาคำตอบผ่านการพูดคุยกับสองผู้บริหารเชลล์ระดับโลก พร้อมกลยุทธ์สำคัญที่เชลล์ใช้พาตัวเองเคลื่อนไปสู่ธุรกิจที่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่และความยั่งยืนที่คนทั้งโลกถามหา
อิสต์วาน คาพิทานี (István Kapitány) รองประธานบริหารธุรกิจโมบิลิตี้ Shell plc (Global Executive Vice President, Shell Mobility, Shell plc) เล่าว่า ความต้องการของลูกค้ากำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของธุรกิจ
ปัจจุบันเชลล์มีสถานีบริการกว่า 46,000 แห่ง ดำเนินธุรกิจใน 85 ประเทศ และนั่นนับเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพูดถึงพลังงานและการคมนาคม พร้อมกันนั้นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแวดวงคมนาคมและพลังงานก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
การมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้เชลล์เร่งปรับตัว และสร้างจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใน 30 ประเทศทั่วโลก รวมๆ แล้วกว่า 40,000 จุดด้วยกัน อิสต์วานกล่าวว่า ธุรกิจในหลากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า “คำตอบเดียวไม่ได้เหมาะกับความต้องการของทุกคน”
“การดำเนินธุรกิจในตลาดที่มีเงื่อนไขต่างกัน ทำให้เราต้องมอบทางเลือกให้กับลูกค้า สำหรับลูกค้าที่ขับรถยนต์เราก็ยังต้องให้บริการเชื้อเพลิงคุณภาพเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล หรือเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่เราพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันมันก็สำคัญมากที่จะทำให้จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต”
“การเติบโตของเชลล์ในประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เรามีปั๊มน้ำมัน 2,000 แห่ง และสถานีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 800 แห่ง ซึ่งเป็นสถานีที่ให้บริการแยกขาดจากปั๊มน้ำมันด้วย เมื่อมองภาพที่เกิดขึ้นในจีน ก็น่าสนใจว่า แนวโน้มของพื้นที่อื่นๆ ในโลกล่ะจะเป็นอย่างไร หากในอนาคตเราต้องมีทั้งปั๊มน้ำมันและจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า” อิสต์วานกล่าว
หากเรานึกถึงภาพของสถานีบริการเชื้อเพลิงหรือ ‘ปั๊มน้ำมัน’ แน่นอนว่า ‘น้ำมัน’ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราเห็นหรือเข้าไปจับจ่ายอีกต่อไป ในสถานีบริการยังอำนวยความสะดวกด้านไลฟ์สไตล์ให้ผู้คนด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ เสมือนเป็นทั้งจุดเติมพลังของรถและของคนในคราวเดียว
อิสต์วาน กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เชลล์จึงทำธุรกรรมมากกว่า 11 พันล้านรายการต่อปี ผ่านการให้บริการรูปแบบต่างๆ ที่กล่าวถึง และพูดเปรียบเทียบการดำเนินงานมหาศาลอย่างติดตลกว่า “เหมือนคนทั้งโลกมาเยือนเชลล์หนึ่งครั้ง และพวกเขาบางคนก็จะกลับมาใช้บริการอีกเป็นครั้งที่สอง”
“เราขายกาแฟได้กว่า 450 ล้านถ้วย ผมมักจะพูดคุยกับพวกนักลงทุนว่า ของเหลวสีดำที่เรียกว่ากาแฟนี้เติบโตอย่างรวดเร็วเชียวละ มันเป็นอัตรากำไรที่ดีมากๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่ลูกค้าจะชื่นชอบคุณภาพเมล็ดกาแฟที่เราคัดสรรมาและบรรยากาศที่เรากำลังสร้างขึ้น ไม่แพ้สินค้าด้านพลังงาน และนี่คือ ธุรกิจระหว่างธุรกิจที่เชลล์ดำเนินไปพร้อมกัน
“ยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องคิดถึงการอำนวยความสะดวกและการตอบโต้กับลูกค้าด้วยวิธีแบบดิจิทัล มันเป็นสิ่งสำคัญมากในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคใหม่”
อย่างไรก็ตาม อิสต์วานยังเล่าว่า ในด้านของพลังงาน นอกจากการเพิ่มบริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว เชลล์ยังให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ Biofuel ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น (น้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินและปิโตรเลียม)
“ขณะที่การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้ามีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เชื้อเพลิงชีวภาพก็กำลังมีบทบาทสำคัญมากๆ ในส่วนต่างๆ ของโลกไม่แพ้กัน ในบราซิลเราเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลิตจากของเหลือทางการเกษตร และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน” อิสต์วานกล่าว
เจสัน หว่อง (Jason Wong) รองประธานบริหารธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น Shell plc (Executive Vice President for Global Lubricants, Shell plc) บนความท้าทายในการรับหน้าที่รักษาตำแหน่งผู้นำตลาดและผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานให้แก่เชลล์ ผ่านการดูแลการจัดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นทั่วโลก
เจสันเล่าว่า ในแต่ละปีเชลล์จำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปประมาณ 5 พันล้านลิตรให้กับลูกค้า และเป็นบริษัทที่ครองอันดับ 1 ของโลกในด้านส่วนแบ่งการตลาดเป็นเวลา 16 ปีติดต่อกัน โดยน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์ตอบสนองอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น ยานยนต์ ยานพาหนะ การก่อสร้าง เหมืองแร่และเหมืองหิน เกษตรกรรม พลังงาน และการผลิตทั่วไป
“หากคุณขับรถ คุณก็จะรู้ว่ารถของคุณต้องการน้ำมันหล่อลื่น แต่ในความเป็นจริงแล้วสารหล่อลื่นอยู่ทุกที่ เพราะมันช่วยลดการเสียดสีและยังช่วยให้ชิ้นส่วนกลไกต่างๆ เคลื่อนที่ได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากยานยนต์แล้ว เรายังจะพบมันในรถบรรทุก เครื่องจักร และอุปกรณ์ในด้านอุตสาหกรรม”
“ดังนั้น สิ่งที่เชลล์ทำคือ การคิดว่าลูกค้ารถยนต์ส่วนบุคคลต้องการอะไร เครื่องยนต์สันดาปจำเป็นต้องมีน้ำมันหล่อลื่นเกรดสูงเพื่อให้ประสิทธิภาพการขับขี่ดีขึ้นใช่ไหม และคุณยังต้องการให้รถบรรทุกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในภาคอุตสาหกรรมคุณก็จำเป็นต้องบำรุงรักษาอุปกรณ์ด้วย” เจสันกล่าว
เมื่อเล่าภาพกว้างให้เห็นว่า สินค้าของเชลล์จำเป็นต้องตอบสนองลูกค้าในกลุ่มไหนบ้างแล้ว เขาก็เล่าถึง ‘หลังบ้าน’ ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่แข็งแรงไม่แพ้กัน
“เรามีศูนย์เทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี อินเดีย และในญี่ปุ่น เรามีนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคน ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนที่สำคัญมากคือ ความร่วมมือและการมีส่วนร่วม หากเราจะเลือกใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า เราได้ทำงานร่วมกับลูกค้าและเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ รวมไปถึงจุดด้อยของสินค้าด้วย ทั้งหมดก็เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ให้ตรงโจทย์”
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือ เชลล์ใช้สนามแข่งขันรถ F1 (Formula 1) เป็นห้องทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเชลล์จับมือกับทีมระดับโลกอย่าง ‘เฟอร์รารี’ และใช้การแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีของเชลล์ด้วย เจสันเล่าให้ฟังอย่างเข้าใจง่ายว่า การจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมานั้น หมายความว่าผลิตภัณฑ์จะต้องถูกทดสอบในสถานการณ์ต่างๆ นับร้อยครั้ง เช่นนั้นแล้ว จะมีสนามทดลองไหน ที่มอบอุปสรรคและสถานการณ์ยากๆ ได้ดีไปกว่าการแข่งขัน F1 กันเล่า
“ในการทดสอบกับทีมเฟอร์รารี เรามีผลิตภัณฑ์สองชนิดที่แตกต่างกัน เราใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นระดับพรีเมียมที่สุดกับทีม และยังทำงานร่วมกับพวกเขาเพื่อพัฒนาน้ำมันที่เรียกว่า Shell Helix Ultra 0W ซึ่งเป็นน้ำมันบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งเจือปน ให้ประสิทธิภาพที่สูงมาก การทดสอบกับทีมเฟอร์รารีทำให้ผมหวังจริงๆ ว่าวันหนึ่งเมื่อคุณไปที่สถานีเชลล์ คุณจะถามหาน้ำมันเฮลิกซ์ (หัวเราะ)”
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดไปควบคู่กันคือเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เจสันเล่าถึงนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวอย่างเช่น เชลล์มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างและยั่งยืนมากขึ้น โดยใช้วัสดุเรซินอ้อยที่คาร์บอนเป็นลบ พร้อมกับการเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล
“เราค่อนข้างมั่นใจจริงๆ ว่า จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานของเราเองได้ครึ่งหนึ่งภายใน 2-3 ปีข้างหน้า นี่คือความก้าวหน้าที่เราได้ทำไปแล้วในบางพื้นที่ เมื่อลูกค้านำผลิตภัณฑ์ของเราไปใช้ บรรจุภัณฑ์ของเราจะถูกรีไซเคิลกลับมามากขึ้น เราไม่เพียงคำนึงถึงห่วงโซ่ในการผลิตของเราเองเท่านั้น แต่จำเป็นต้องรวมถึงห่วงโซ่ของลูกค้าด้วย”
ที่ผ่านมาเชลล์พยายามปรับตัวในด้านความยั่งยืน ผ่านทั้งการสนับสนุนข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจะเป็นธุรกิจพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ เชลล์ยังให้ความสำคัญกับการ "ลด" และ "ชดเชย" การปล่อยคาร์บอนให้เป็นกลาง รวมไปถึงการหันมาให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือพัฒนาพลังงานอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม คำถามที่หลายบริษัทใหญ่ยักษ์ต้องเจอเมื่อวางโรดแม็ปในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือเมื่อออกนโยบายด้านความยั่งยืนก็คือ ทำอย่างไรให้แผนปรับตัวเหล่านั้นทำได้จริง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
เจสันได้อธิบายถึงความท้าทายและความซับซ้อนของเรื่องนี้เอาไว้ และชี้ให้เห็นว่า การสร้างความยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่เราต่างต้อง ‘ทำงานร่วมกัน’
“ลองจินตนาการถึงโลกที่ทุกคนขับรถ EV นะครับ หากการชาร์จไฟฟ้าทั้งหมดนั้นมาจากพลังงานหมุนเวียนทุกอย่างก็เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปัญหาคือแม้คุณจะสามารถสร้างเสาชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลกได้ แต่หากไฟฟ้าจำนวนมากยังมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รถยนต์ทุกคันยังคงใช้พลังงานที่มาจากการเผาไหม้ภายใน ความยั่งยืนก็ไม่เกิดผล”
“จริงๆ แล้วไม่ว่าเราจะทำอะไร สิ่งสำคัญคือการทำร่วมกับคนอื่นๆ หากคุณนำเสนอทางเลือกต่อสาธารณะแต่ลูกค้าไม่ต้องการมัน ไม่ว่าจะเสนออะไร คุณก็ไม่สามารถกอบกู้โลกได้ คำถามคือแล้วเราจะทำงานร่วมกับทุกคนเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี และเดินไปถึงเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์นั้นด้วยกันได้อย่างไร” เจสันกล่าว
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว สองผู้บริหารจึงขยายความต่อว่า เชลล์พยายามทำงานกับหลายภาคส่วน ไล่ตั้งแต่การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายของรัฐ การทำงานกับภาคเอกชน รวมถึงการแบ่งปันให้ความรู้แก่สังคมและผู้ใช้งาน เพื่อให้เป้าหมายความยั่งยืนสำเร็จได้จริง
“หากตอนนี้คุณได้ใช้สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เราจะมีคนคอยให้คำแนะนำลูกค้าว่าต้องทำอย่างไร เราทุ่มเทพลังงาน เวลา และทรัพยากรไปอย่างมากในการฝึกอบรมบุคลากรของเราเพื่อสื่อสารต่อไปยังลูกค้า”
“เรายังกำลังทำงานร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม (OEM) เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสร้างโซลูชันที่ได้มาตรฐาน เพราะอุตสาหกรรมก็เป็นอีกหัวใจสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก”
“เราพยายามขยายบทสนทนาเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด การทำงานร่วมกับสังคมคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของเรา” อิสต์วานกล่าวทิ้งท้าย