คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ขอนำเรื่องราวของบริษัท ซีเค เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP หนึ่งในบริษัทธุรกิจพลังงานชั้นนำของไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหลากหลายประเภท โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากการผลิตไฟฟ้าและความร้อนควบคู่กัน (โคเจเนอเรชัน) บริษัทมีโรงไฟฟ้า 18 แห่งในประเทศลาวและไทย รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 3,640 เมกะวัตต์
ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกและผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียนและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ที่ผ่านมา ได้รับการจัดอันดับความยั่งยืน SET ESG Rating ที่ระดับ AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
ซึ่งเป็นการประเมินด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งวัดผลการดำเนินงานของบริษัท คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เป็นการวิเคราะห์และประเมินว่าบริษัทมีการจัดการความเสี่ยงและโอกาสในด้านเหล่านี้ได้ดีเพียงใด เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนที่มีความรับผิดชอบ
การจัดอันดับ AAA แสดงให้เห็นองค์กรมีการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม ทั้ง 3 ด้าน โดยได้รับคะแนนสูงสุดในการจัดการความเสี่ยงและโอกาสในทุกด้าน เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนระดับสูงสุด
สำหรับผลการดำเนินการ ด้านการจัดการพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางซีเค เพาเวอร์ ได้แถลงว่า ในที่ผ่านมาบริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.0691 ตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ต่อการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Thailand Grid) ที่ 0.4999 tCO2e/MWh ถึง 86%
ขณะที่ในครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 83% คาดการณ์ตลอดปี 2567 ทั้งปีจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 87%
ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566 สามารถลดการใช้พลังงานได้รวม 5,101 MWh ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,051 tCO2e ซึ่งเทียบเท่ากับการจัดโครงการกรุงเทพฯปิดไฟ (Earth Hour 2024) เป็นเวลา 186 ชั่วโมง
ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทลดการใช้พลังงานได้ถึง 2,883 MWh ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,313 tCO2e เทียบเท่ากับการจัด Earth Hour เป็นเวลา 119 ชั่วโมง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ ซีเค พาวเวอร์ ย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย CKP NET ZERO EMISSIONS 2050 โดยมุ่งเน้นให้บริษัทสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งวางแผนระยะยาวในการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การศึกษาและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนร่วมกับก๊าซธรรมชาติซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2024 ของไทย
ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้าเกินเป้าหมาย 0.86% และยังได้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในองค์กร เช่น การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถไฮบริดในสำนักงานและโรงไฟฟ้าภายใต้การบริหารของบริษัท
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 89% เป็น 93% คิดเป็นการผลิตไฟฟ้าสะอาด 8.5 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือ 17% ของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในไทย
และในปี 2566 บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมกับแผนการดำเนินการระยะยาวเพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่