สำหรับ "First Jobber" หรือคนที่เพิ่ง "เริ่มทำงาน" หลายคนอาจมองว่าการ "การทำประกัน" ไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อชีวิตเพราะคิดว่าตัวเองยังอายุน้อย สุขภาพยังแข็งแรงดี มีความเสี่ยงต่ำ จนอาจทำให้หลายคนละเลย “ประกัน” และหลงระเริงไปกันการใช้เงินเกินมือ รู้ตัวอีกทีเงินในบัญชีแทบติดลบ จนเข้าข่ายมีเงินเดือนแต่ไม่มีเงินเก็บก็เป็นได้ จนทำให้รู้สึกว่ายังมีเงินไม่มากพอที่จะจ่ายค่าเบี้ยประกันในแต่ละเดือน อยากเอาเงินไปทำอย่างอื่นก่อน
แต่จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองเหล่านี้อาจเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองมากขึ้น และตระหนักว่า การเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกอายุ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและเงินในกระเป๋าของเราได้เสมอ ดังนั้นการวางแผนประกันที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
1. จุดประสงค์ในการทำประกัน เนื่องจากประกันมีหลากหลายรูปแบบ จึงต้องรู้ก่อนว่า เราจะทำประกันไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อความคุ้มครองชีวิต ความคุ้มครองสุขภาพ และเพื่อการออม เป็นต้น เมื่อรู้แล้ว เราจะได้เลือกแบบประกันที่ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการได้มากที่สุด
2. ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน สำหรับ First Jobber เรื่องเงินถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในช่วงแรกๆ ของการทำงาน เงินเดือนอาจจะไม่เยอะมากนัก จึงต้องจัดสรรรายรับ-รายจ่ายให้ดี ทำให้การเลือกเบี้ยประกันที่เราสามารถจ่ายไหวจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยอัตราการจ่ายเบี้ยประกันที่ดีไม่ควรเกิน 10% ของรายได้รวมต่อปี
1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
ประกันที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน (คุ้มครองจนถึงอายุ 90 - 99 ปี แล้วแต่แบบประกัน) โดยจุดเด่นของประกันชีวิตประเภทนี้ คือ มีทุนประกันที่สูง เบี้ยประกันต่ำ และสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ เหมาะกับผู้ต้องการทุนประกันที่สูง เพื่อคุ้มครองภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆ กรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน คนข้างหลังจะได้ไม่เดือดร้อน แบบนี้จึงเหมาะกับ First Jobber ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต โดยจ่ายเบี้ยไม่สูงมาก
2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองควบคู่ไปด้วย โดยหากเราส่งเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ (เช่น 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี) บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินพร้อมผลตอบแทนคืนให้เรา โดยมีทั้งแบบจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียว หรือแบบมีเงินคืนระหว่างทางตลอดสัญญาก็ได้ และหากเราเสียชีวิตระหว่างที่กรมธรรม์มีผลบังคับ ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินก้อนที่เรียกว่า “จำนวนเงินเอาประกัน” หรือ “ทุนประกัน” ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา
3. ประกันสุขภาพ
ประกันที่เน้นให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หลายคนอาจมองว่าเบี้ยประกันสุขภาพ คือ เบี้ยที่ต้องจ่ายทิ้ง เลยรู้สึกไม่คุ้มและไม่อยากทำ แต่การทำประกันสุขภาพ คือ การบริหารความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะก่อให้เกิดความเสียหายขนาดไหน
สุดท้ายนี้ การเลือกซื้อประกันสำหรับ First Jobber อันดับแรกควรเลือกจากความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคน งบประมาณที่เหมาะสม และที่สำคัญต้องไม่ลืมทำความเข้าใจเงื่อนไขของประกันแต่ละประเภทก่อนตัดสินใจทำ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดอย่างที่ควรจะเป็นด้วย
อ้างอิง SCB
ติดตามข่าวสารด้านประกัน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/personal_finance/insurance
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney