เพราะ “โสด” ต้องดูแลตัวเอง เปิด 5 ข้อควรรู้ ก่อนคนโสดตัดสินใจ “ซื้อประกัน”

Personal Finance

Insurance

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เพราะ “โสด” ต้องดูแลตัวเอง เปิด 5 ข้อควรรู้ ก่อนคนโสดตัดสินใจ “ซื้อประกัน”

Date Time: 21 เม.ย. 2567 11:45 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • 5 ข้อควรรู้ ก่อนคนโสดตัดสินใจ “ซื้อประกัน” สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ระบุ แม้คนเป็นโสด ภาระน้อย แต่พบค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนมีครอบครัว จึงต้องเตรียมพร้อมด้านการเงินอย่างรอบคอบ เพื่อวัยเกษียณ และเลือกประกันที่เหมาะกับพฤติกรรม กิน-อยู่ “ฉบับคนโสด”

Latest


รู้หรือไม่ ประชากร 1 ใน 4 ของโลกเป็น “คนโสด” โดยข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก มีแนวโน้มจำนวนคนโสดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ทั่วโลกมีคนโสดมากถึง 2.12 พันล้านคน

สำหรับประเทศไทย พบคน Gen Y มีค่านิยมตัดสินใจครองตัวเป็นโสดมากขึ้นเช่นกัน โดยภาพสะท้อนที่เห็นชัดมากที่สุด คือ อัตราเด็กเกิดใหม่ในไทยต่ำสุดในรอบ 71 ปี 

สอดคล้องกับข้อมูลของ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เผย “คน (ตัดสินใจ) โสด” มีอัตราเพิ่มขึ้นในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว จากสถิติมีคนโสดถึง 13.9% ในประเทศไทย และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น 19.7% ในขณะที่อัตราการจดทะเบียนสมรส ลดลง 5% เทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี บ้างอาจมองว่า “โสดก็ดี ภาระน้อย” ไม่ต้องหารตังค์กับใคร แต่หารู้ไม่ จากข้อมูลเปิดเผยว่า โดยเฉลี่ยคนโสดมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนที่มีครอบครัวถึง 11% เนื่องจากต้องการหาความสุขจากความบันเทิง มีการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าคนมีครอบครัวมาก จึงต้องเตรียมตัวเรื่องการเงินไว้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการวางแผนวัยเกษียณที่รัดกุม การวางแผนการจัดการความเสี่ยงและประกันที่ครอบคลุมด้วย

5 เรื่องควรรู้ ก่อนคนโสดซื้อประกัน

ขณะ “วริศา มณีธวัช ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™” บมจ.กรุงไทยแอกซ่า ประกัน ชีวิต แนะไว้ 5 เรื่องควรรู้ ก่อนคนโสดซื้อประกัน ดังนี้ 

1. สุขภาพ “เพราะคนโสดต้องดูแลตัวเอง” 


ร่างกายคนเราเสื่อมลงทุกวัน การแก่และเจ็บป่วย ค่ารักษาพยาบาล ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมไว้ก่อน เพราะวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ๆ ในอนาคต มีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ 

ซึ่งวิธีการง่ายๆ ทำให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยง คือ ปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงโรค NCDs (โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคไตเรื้อรัง ด้วยการออกกำลังกาย เลือกกินอาหารสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพประจำปี

นอกจากนี้ การทำประกันสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยบริหารค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งเป็นการวางแผนการเงินไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลในรูปแบบเบี้ยประกันที่คาดการณ์ได้ แทนที่จะต้องไปลุ้นบิลค่ารักษาจริงที่โรงพยาบาล

2. “ค่ากินอยู่ ใช้จ่าย” สุขสบายยามเกษียณ


แม้ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณบางอย่างอาจจะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร (บางคนยังมีหนี้สินอีกด้วย) ค่าใช้จ่ายพวกนี้ยังคงอยู่ และอย่าลืมว่าหากคุณเป็นคนโสด อาจไม่มีใครมาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้

แนะนำการทำประกันบำนาญ เพื่อเป็นรายได้ต่อเนื่องระยะยาว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนช่วงหลังเกษียณ และประกันบำนาญยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกมาก ขณะอยู่ในช่วงวัยทำงาน

3. ต่อให้โสด แต่ก็ต้องระวังโรคร้ายแรง


จะโสดหรือไม่โสด ทุกคนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงเหมือนๆ กัน สังเกตจากสถานพยาบาลเปิดศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคไต ศูนย์โรคหัวใจ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เช่นเดียวกับอุบัติการณ์การเกิดสูงขึ้น และเริ่มตรวจเจอในอายุที่น้อยลง ที่สำคัญ “ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร”

นอกจากการดูแลตัวเองให้ดี ลดความเสี่ยงต่างๆ หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็ควรมีประกันโรคร้ายแรง เพราะการเป็นโรคร้ายมีค่าใช้จ่ายสูง และการหยุดงานเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อรักษาตัว โดยที่ยังมีค่าใช้จ่าย ประกันโรคร้ายแรงจะเป็นเงินก้อนชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป จะได้ไม่เป็นภาระกับกระเป๋าเงินของตัวเอง

4. กิจกรรมกับเพื่อนๆ ท่องเที่ยว สันทนาการฉบับคนโสด

  • คนโสด มีค่าท่องเที่ยวสูงกว่าคนมีครอบครัว 40%
  • คนโสด มีค่าน้ำมันสูงกว่าคนมีครอบครัว 4%
  • คนโสด มีค่าความบันเทิงสูงกว่าคนมีครอบครัว 5%

ดังนั้น หากจะเป็นคนโสด มีโหมดกินเที่ยว อย่าลืมเตรียมเงินก้อนนี้ไว้ด้วย แนะนำประกันออมทรัพย์ระยะยาว ที่มุ่งเน้นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ โดยเลือกแผนที่จะได้รับเงินครบกำหนดสัญญาตอนที่เรากำลังจะเกษียณพอดี เพื่อเป็นเงินก้อนให้เราได้ใช้จ่ายเพื่อความสุข

5. มรดกตกทอดให้หลานรัก


แม้จะไม่มีลูก แต่ลุง ป้า น้า อา ที่มีหลานรัก ก็สามารถทำเตรียมมรดกก้อนสุดท้าย หรือทำประกันชีวิตเอาไว้ให้คนที่รักได้เช่นกัน จึงควรเตรียมกรมธรรม์ประกันชีวิตไว้บ้าง เพื่อเคลียร์หนี้สินส่วนตัว ไม่ให้คนข้างหลังลำบาก และเป็นเงินก้อนสำหรับหลานๆ หรือคนข้างหลังที่ยังเป็นห่วง

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์