ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนรุ่นใหม่” รู้จักการวางแผนทางการเงิน และมีความเข้าใจการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุที่เป็นการออมระยะยาวมากขึ้น โดยที่จะต้องเริ่มตั้งอายุน้อยๆ จึงจะเพียงพอสําหรับการใช้จ่ายในอนาคต
คนรุ่นใหม่จึงให้ความสําคัญในการดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพมากขึ้น ทั้งจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ฝุ่น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งโรคร้ายแรงต่างๆ ที่ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเห็นได้จากบนสื่อโซเชียลมีเดียที่มีผู้สูญเสียจากสิ่งไม่คาดฝัน
รวมทั้งโรคที่มาโดยไม่ทันตั้งตัวจำนวนมาก นับเป็นอีกหนึ่งประการที่ทำให้ “คนรุ่นใหม่” เลือกที่จะหาหลักประกันให้กับชีวิตเองมากขึ้น และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ “ประกัน” เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะลงทุน
สมาคมประกันชีวิตไทย ได้มีการเปิดเผยข้อมูลกับทาง #Thairath Money ถึงแนวโน้มการซื้อกรมธรรม์ของคนรุ่นใหม่ตลอดปี 2566 และในปี 2567 ว่า มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ คนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจและต้องการนําการประกันชีวิตมาเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้น และส่วนใหญ่ตามพฤติกรรมของคนวัยนี้ชอบเรียนรู้และอยากลองสิ่งใหม่ๆ จึงเน้นทำแบบประกันสุขภาพหรืออุบัติเหตุ และการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อให้มีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายในอนาคตจึงมีจำนวนมากขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้หากจะให้เห็นภาพชัดๆ คนรุ่นใหม่ในช่วงวัยทํางานตอนต้น และเริ่มมีรายได้ เริ่มเสียภาษีเงินได้ จะนิยมทําประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งได้ทั้งสะสมเงิน ความคุ้มครอง ลดหย่อนภาษี และสร้างวินัยการออมเงิน รวมทั้งเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ก็มักจะมองหาความคุ้มครองระยะยาว เช่น แบบตลอดชีพร่วมกับสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยกเลิกความคุ้มครอง โดยส่วนใหญ่จะคุ้มครองถึงอายุ 70-85 ปี แล้วแต่เงื่อนไขกรมธรรม์ฯ รวมทั้งเบี้ย ประกันชีวิตจะคงที่ตลอดแต่เบี้ยประกันสุขภาพจะปรับขึ้นตามช่วงอายุ ประกอบกับปัจจัยต่างๆ ตาม Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ เช่น
ขณะเดียวกัน “คนรุ่นใหม่” ที่เริ่มมีการวางแผนทางการเงิน จึงอาจเริ่มที่การทําประกันสุขภาพ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยในลดความเสี่ยงจากค่ารักษาพยาบาลในอนาคต และสามารถนําเบี้ย ประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาท
นอกจากนี้ประกันชีวิตควบการลงทุน เป็นการประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทาย ชอบพึ่งพาตัวเอง และมาหาแหล่งเงินออมที่ สามารถให้ผลตอบแทนสูงเพื่อตอบสนองค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าอุปโภคและบริโภค ดังนั้น การเลือกทําประกัน ชีวิตควบการลงทุนจึงตอบโจทย์ในหลายด้าน
เช่น มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ที่มากกว่าการประกันชีวิตทั่วไป รวมทั้งยังช่วยเพิ่ม/ลดความคุ้มครอง เพิ่ม/ถอนเงินออม หรือพักจ่ายเบี้ยได้ และให้ความคุ้มครองชีวิตสูงกว่าเมื่อจ่ายเบี้ยกับการประกันชีวิตแบบทั่วไป ขณะเดียวกันยังสามารถปรับสัดส่วนกองทุนอัตโนมัติ และสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ เช่น ประกันสุขภาพ โดยที่ไม่ต้องมีตัวแทนโทร. ขายเนื่องจากคนกลุ่มนี้เลือกที่จะซื้อประกันด้วยตัวเองผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
ส่วนแนวโน้มของการซื้อประกันชีวิตของคนทั่วไป คงจะหนีไม่พ้น “ประกันชีวิตแบบบํานาญและสุขภาพ” ซึ่งจากสถิติประชากรของประเทศไทย ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีการเติบโตรวดเร็วอันดับต้นๆ ของโลก และมีอัตราการเกิดมีอัตราที่ลดน้อยลงจึงเป็นปัจจัยมาผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทบำนาญ และสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ