เป็น“โสด”ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า เปิดกลยุทธ์ การเงินแบบฉบับคนโสด เมื่อเงินที่ดี มีค่ากว่า คู่ที่ไม่ดี

Personal Finance

Financial Planning

Tag

เป็น“โสด”ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า เปิดกลยุทธ์ การเงินแบบฉบับคนโสด เมื่อเงินที่ดี มีค่ากว่า คู่ที่ไม่ดี

Date Time: 13 ก.พ. 2568 09:52 น.

Video

กลเม็ดแบบ Netflix ทำไมคู่แข่งเลียนแบบให้ตายยังไง ก็ไล่ไม่ทัน | Digital Frontiers

Summary

  • เป็น“โสด” วันวาเลนไทน์ ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า แต่เป็นโอกาส สร้างชีวิตอิสระและมั่นคง เปิด 4 กลยุทธ์ การวางแผนการเงิน แบบฉบับคนโสด เมื่อเงินที่ดี จะซัพพอร์ตเราได้มากกว่า "คู่ที่ไม่ดี" ลงทุนเพื่อตัวเอง ไม่เจ็บเลยสักวัน

Latest


เคยได้ยินประโยคนี้กันไหม "รักตัวเอง ไม่เจ็บเลยสักวัน" 

ประโยคที่มีพลังในเชิงจิตวิทยาและสะท้อนแนวคิด Self-Love หรือ การให้คุณค่ากับตัวเอง ที่ไม่ใช่แค่ในเชิงความรัก ไม่ต้องเอาใจไปเจ็บ กับความสัมพันธ์ที่สุ่มเสี่ยง รักที่ไม่มั่นคง และอีกฝ่ายพร้อมจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา 

หากแต่ การรักผิดคน เสียทั้งเงินทั้งเวลา เช่น การทุ่มเงินไปกับความสัมพันธ์ที่ไม่มีอนาคต ร้ายไปจนถึงขึ้น สิ้นเนื้อประดาตัว เพราะถูกหลอกลวง เลิกรา”หย่าร้าง” ไม่เหลือแม้แต่สมบัติติดตัว 

ขณะ”คู่ที่ไม่ดี” ยังอาจทำให้ชีวิตเราพังได้ เช่น

  • ใช้เงินฟุ่มเฟือย ทำให้เราต้องรับภาระ
  • ไม่มีเป้าหมายทางการเงิน ต้องช่วยแบกค่าใช้จ่าย
  • เป็นภาระทางจิตใจ ส่งผลต่อการตัดสินใจด้านการเงิน

บางคู่รักกันมาก แต่ มีปัญหาทางการเงินที่ไปต่อไม่ได้ หรือ บางคู่ “เงิน”ไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ กลับไม่มีความเข้าใจกันเรื่องเป้าหมายทางการเงิน บางคนรักกันดีแต่ สุดท้ายต้องแบกภาระหนักเกินไป จนรักกลายเป็นภาระ

นี่อาจกลายเป็น 1 ในเหตุผล ที่ทำให้ บางที การอยู่คนเดียวอาจเป็นคำตอบที่ปลอดภัยกว่า สำหรับหัวใจและกระเป๋าสตางค์ หรือ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนที่เคยผ่านการเลิกราเพราะเรื่องเงิน มักจะให้ความสำคัญกับ "การมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงก่อน" มากกว่าการหาใครสักคนมาเติมเต็มชีวิต เพราะพวกเขาเรียนรู้จากความเจ็บปวดมาแล้ว

"เงินที่ดี จะซัพพอร์ตเราได้มากกว่าคู่ที่ไม่ดี"

อย่างไรก็ดี การโสด ที่รักตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่การใช้ชีวิตอย่างอิสระเท่านั้น แต่คือ การวางแผนทางเงินที่ดี เพื่อให้เราสามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่ ไม่ต้องเผื่อใจหรือเผื่องบประมาณให้ใคร การรักตัวเองในมุมมองทางการเงิน คือการจัดสรรทรัพยากรเพื่อตัวเอง อย่างชาญฉลาด เช่น

  • ลงทุนให้อนาคต มีเงินใช้ยามเกษียณ
  • ซื้อประกันสุขภาพ ให้ตัวเองมีหลักประกันในยามฉุกเฉิน
  • ใช้เงินเพื่อเติมเต็มความสุขในแบบที่ตัวเองต้องการ


ไม่ต้องแสวงหา คู่ที่ดี และให้หา “เงินที่ดี”

เงินที่ดีคืออะไร?

เงินที่ดี ไม่ใช่แค่จำนวนเงินในบัญชี แต่เป็น เงินที่ช่วยให้ชีวิตเรามั่นคงและเติบโต เช่น

  • เงินเก็บฉุกเฉิน ที่ทำให้เราไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร
  • เงินลงทุน ที่ทำให้เงินทำงานแทนเรา ไม่ต้องพึ่งพาใคร
  • เงินสำหรับดูแลสุขภาพ ที่ทำให้เราปลอดภัย ไม่ต้องรอให้ใครมาซัพพอร์ต

วางแผนการเงินแบบฉบับคนโสด ไม่ง้อคู่ ก็มั่นคงและสุขได้

ข้อดีของการเป็น “โสด” คือ ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านความสัมพันธ์ เช่น ของขวัญวันครบรอบ ค่าดินเนอร์หรู หรือค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความสัมพันธ์

เรื่อยไปจนถึง การตัดสินใจเรื่องเงินได้อิสระ ไม่มีความขัดแย้งเรื่องเป้าหมายทางการเงินระหว่างคู่ และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า ไม่ต้องเผื่อเงินไว้สำหรับครอบครัวของอีกฝ่าย ทำให้เรามีโอกาสลงทุนเพื่ออนาคตได้มากกว่า รายได้ทั้งหมดใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง และสร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงได้ด้วย 

สำหรับ กลยุทธ์ จัดการเงินสไตล์คนโสดนั้น ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำไว้ 4 กลยุทธ์ ดังนี้ 

1. จัดสรรค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ตามสัดส่วนที่เหมาะกับตัวเรา เช่น 

-เงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 50% 

-เงินออมและลงทุน 20% 

-เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 10%

-เงินใช้จ่ายเพื่อความสุข 10% 

-เงินเลี้ยงดูพ่อแม่ 10% 

พร้อมทั้งจดบันทึกรับจ่ายในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของรายได้และการใช้จ่าย

2. ทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เพื่อคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน ซึ่งนับวันค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

3. อย่าสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น หากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ควรเลือกสร้างแต่หนี้ที่ดี เช่น กู้เงินเพื่อซื้อบ้าน หรือเพื่อการศึกษา เพราะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับตัวเราเองได้ในอนาคต

4. ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีให้ทางเลือกลงทุนมากมายและเข้าถึงได้ง่าย เช่น ตัดบัญชีเงินฝากเพื่อลงทุนในกองทุนรวมทุก ๆ เดือน ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกสบาย แถมยังช่วยสร้างวินัยในการลงทุนให้กับเราด้วย

หรือ เราจะสร้างแผนการเงินที่เหมาะกับตัวเอง ก็ได้เช่นกัน เช่น การกำหนดเป้าหมายทางการเงิน อยากมีเงินเก็บ 1 ล้านบาทก่อนอายุ 35 หรือ เกษียณก่อน 50ก็สามารถจัดสรรงบการเงินแบบ 50/30/20 หรือ 70/20/10 (ตามไลฟ์สไตล์)

โฟกัสที่ความมั่นคงระยะยาว เช่นการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้าง Passive Income เช่น หุ้นปันผล กองทุนรวม อสังหาฯ ให้เช่า เป็นต้น 

สุดท้าย ถ้าเรามีเงินมากพอ เราจะเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องทนอยู่กับคนที่ทำให้เราเป็นทุกข์ และถ้าลงทุนอย่างชาญฉลาด เราก็สามารถมีรายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครทั้งสิ้น เมื่อความโสดอาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป.

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อุมาภรณ์ พิทักษ์

อุมาภรณ์ พิทักษ์
เศรษฐกิจ การเงิน ลงทุน และ อสังหาริมทรัพย์