ธปท.เผย ลูกหนี้มีปัญหาแห่ลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย” คึกคัก เปิดให้ลงยาวถึง 28 ก.พ.นี้ ส่วนแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มนอนแบงก์ คาดได้ข้อสรุปไตรมาสนี้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดโตได้ 2.9%
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน “คุณสู้ เราช่วย” ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.67 ว่า ล่าสุด ณ เวลา 15.30 น. วันที่ 6 ม.ค.68 มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว 369,000 บัญชี โดยยังลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 28 ก.พ.68 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ BOT contact center โทร.1213 หรือ call center สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ และกดเบอร์ต่อ 99
ส่วนโครงการแก้หนี้ภาคครัวเรือนระยะที่ 2 สำหรับกลุ่มบริษัทปล่อยกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ซึ่งจะร่วมแก้หนี้ให้ลูกหนี้ผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด รูปแบบ เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมถึงมูลหนี้ คาดจะเห็นความชัดเจนไตรมาส 1 “นอนแบงก์จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไปบ้างจากสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง และครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น”
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการออมสิน กล่าวว่า เปิดให้ลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย” ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.67 จนถึงวันที่ 6 ม.ค. มีลูกหนี้ลงทะเบียนผ่านแอปฯ MyMo, เว็บไซต์ www.gsb.or.th, และสาขาธนาคารออมสินทั่วประเทศ แล้ว 30,000 ราย โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.68 และใน 1-2 สัปดาห์ ธนาคารจะโทร.หาลูกหนี้ที่เข้าข่ายมีปัญหาชำระหนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ตรงจุด “ออมสินจะช่วยลดภาระดอกเบี้ย เน้นตัดชำระเงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นตัว และกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ มีเครดิตดีในอนาคต”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอนแบงก์ สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ ธปท.อยู่ระหว่างกำหนดรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้ คาดจะออกประกาศรายละเอียดความชัดเจนในเร็วๆนี้
ส่วนนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า วานนี้ (6 ม.ค.) เป็นวันแรกที่ ธอส.เปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ผ่านแอปฯ GHB ALL GEN หรือ GHB ALL Bfriend ซึ่ง ธอส.พร้อมช่วยเหลือลูกค้า เพื่อให้รักษาบ้านของตัวเองไว้ โดยจะมีทั้งการปรับลดดอกเบี้ย และลดวงเงินชำระแต่ละงวด ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ว่า มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์ที่จะรุนแรงขึ้น นโยบายคู่ค้าหลักที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะสหรัฐฯ โดยคาดว่า ไตรมาส 4 ปี 67 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 3% ส่งผลให้ทั้งปี 67 ขยายตัวได้ 2.7% สำหรับนโยบายการเงินจะต้องกระชับฉับไว เปิดกว้าง รองรับสถานการณ์ที่หลากหลาย และรักษา Policy Buffer ให้มีช่วงของดอกเบี้ยนโยบายรับมือความไม่แน่นอน ส่วนการลดลงของหนี้ครัวเรือนกำลังจับตาจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ สภาพคล่องครัวเรือน เพราะไม่อยากเห็นการชะลอของหนี้ หรือการให้สินเชื่อใหม่ลดลงรุนแรง เพราะนโยบายการเงินต้องเปลี่ยนทิศทาง
ด้านนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ปี 68 คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% จากการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออกที่คาด 2.7% การนำเข้า 1.7% การลงทุนภาคเอกชน 2.2% การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่ล่าช้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เงินดิจิทัลเฟส 2 และ 3, มาตรการ Easy e-receipt.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม