ธปท.ปรับกลยุทธ์นโยบายการเงิน จ่อคุย “รายเล็ก” ตอบโจทย์เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท.ปรับกลยุทธ์นโยบายการเงิน จ่อคุย “รายเล็ก” ตอบโจทย์เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง

Date Time: 29 ส.ค. 2567 09:10 น.

Summary

  • นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับกลยุทธ์นโยบายการเงิน จ่อคุย “รายเล็ก” ตอบโจทย์เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 มีการตั้งคำถามต่อการตรึงดอกเบี้ยนโยบาย และการประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงผู้บริหาร ธปท.พบสื่อในงาน Press Trip 2024 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ได้ชี้แจงถึงทิศทางการดำเนินภารกิจของ ธปท.ในระยะต่อไป

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า จะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลัก คือ 1. การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน โดย ธปท.จะเลือกใช้การผสมผสานนโยบาย (policy mix) เพื่อให้ตอบโจทย์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่ทั่วถึง และพร้อมปรับเครื่องมือให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่เชื่อมโยงกันให้มากขึ้น โดยกำลังจับตาสภาวะการเงินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งหากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นรุนแรงจนกระทบเศรษฐกิจโดยรวม ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนโยบายการเงินให้สอดคล้องเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจ

“คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% และในปีหน้าขยายตัวได้ 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาท ยอมรับว่าในช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ถ้าเทียบต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทยังคงทรงตัวและมีช่วงหลังที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามดูอย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่จะเดินหน้ามาตรการดูแลหนี้ครัวเรือน ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด โดยจะกำกับดูแลให้การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้เสียเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เร่งการแก้หนี้เรื้อรังให้เร็วขึ้น โดยลูกหนี้ไม่ต้องปิดวงเงินสินเชื่อ และพร้อมที่จะทบทวน ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามสถานการณ์

2.การวางรากฐานภาคการเงิน ทั้งด้านดิจิทัลและความยั่งยืน โดยจะทำใน 3 เรื่อง 1.Open Infrastructure เร่งพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ จัดตั้งกลไกค้ำประกันเครดิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้นร่วมกับคลัง และภาคการเงิน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น 2.Open data มีกลไกให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิส่งข้อมูล เช่น บัญชีเงินฝาก การชำระเงิน และการรับชำระเงิน การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ข้อมูลภาษี เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลความเสี่ยงลูกหนี้ได้มากขึ้น 3.Open Competition หรือเพิ่มการแข่งขัน โดยจะประกาศรายชื่อผู้ได้ใบอนุญาต Virtual bank ในปี 68 และจะเดินหน้าการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์ต้องมีผลิตภัณฑ์สนับสนุนการปรับตัวจาก brown เป็น less brown ของธุรกิจและเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริงและขยายผลในวงกว้างได้

3.การสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ใช้บริการ ใช้บริการทางการเงินอย่างปลอดภัย และเป็นธรรม เพิ่มความเข้มงวดการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้ลูกค้าปลอดภัยขึ้น เช่น การล็อกวงเงินการธุรกรรมออนไลน์ ลดวงเงินโอนที่ต้องสแกนใบหน้าลงจาก 50,000 บาท หรือให้โอนเงินโดยมีผู้ร่วมอนุมัติโอน ขณะเดียวกันจะขยายการจัดการบัญชีม้าเพิ่มจากบัญชีบุคคล เช่น e-money และบัญชีนิติบุคคล ขยายการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน market conduct ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ด้านชำระเงิน การกูัยืมเงินระหว่างบุคคลด้วย

ปรับทัพ “รองผู้ว่าการ” สานต่อกลยุทธ์

ขณะเดียวกัน เนื่องจากในวันที่ 30 ก.ย.นี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งส่งผลให้ ธปท.มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรองผู้ว่าการทั้ง 3 ตำแหน่งไปพร้อมกันทีเดียว ซึ่งในงานผู้บริหาร ธปท.พบสื่อในครั้งนี้ รองผู้ว่าการ
ได้เล่าถึงกลยุทธ์การดำเนินงานในช่วงต่อไปด้วย

เริ่มจากนางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านบริหาร ซึ่งหลังจากวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะรับตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน แทนนายรณดล กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท.วางแผนไว้ดูแลในภาคการเงินที่สำคัญ คือ เรื่องการดูแลเรื่องการหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆที่ออกไปให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้การป้องกันภัยไซเบอร์เป็นรูปธรรม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาใช้ในการกำกับดูแลระบบการเงิน และการชำระเงินให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ธปท.ต้องการให้มีการประสานกันเพื่อมองภาพได้ต่อเนื่องระหว่างการดูแลนโยบายการเงิน ระบบการเงิน และสถาบันการเงิน เพื่อเชื่อมโยงการประเมินภาพเศรษฐกิจในภาพกว้างกับการรับรู้ปัญหาทางการเงินในจุดเล็กๆของธุรกิจ และประชาชนระดับเล็กๆเข้าด้วยกัน ทำให้การดำเนินนโยบายสอดรับกับภาพเศรษฐกิจจริง เพื่อให้การทำนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงิน สอดคล้องและเพิ่มพลังซึ่งกันและกัน

“ที่ผ่านมาสายนโยบายการเงินเหมือนขับเครื่องบินเอฟ 16 มองได้ในภาพกว้างและไกล เพื่อให้เห็นเศรษฐกิจครบทุกด้าน ในขณะที่สายนโยบายการเงิน ดูแลเรื่องที่เป็นรายละเอียดเป็นรายธนาคาร รายบุคคล รายสินเชื่อ รายครัวเรือน เหมือนขับเครื่องบินในระดับต่ำที่ต้องเห็นพื้นหญ้า แต่ ธปท.มองว่าทั้งสองต้องเชื่อมโยงกัน คนทำนโยบายการเงินจะต้องมองให้เห็นทั้งภาพกว้าง และเห็นรายละเอียดของแต่ละภาคธุรกิจที่ต่อเนื่องกัน เป็นเครื่องบินที่ไม่บินสูงเกินไปเห็นทั้งภาพกว้าง แต่ก็ยังเห็นพื้นดินอยู่ ซึ่งจะทำให้ตรงโจทย์ที่ต้องการตอบมากขึ้นด้วย”

ปรับทัศนคติ “คน” ธปท.รับโลกเปลี่ยน

ขณะที่นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ซึ่งจะมารับงานรองผู้ว่าการ ด้านงานบริหาร กล่าวถึงการดูแลองค์กรภายในของ ธปท.ว่า การดูแลหลังบ้าน ซึ่ง ธปท.มีคน 3,200 คน เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ยิ่งในขณะนี้ ธปท.จำเป็นต้องปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ และรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ ทำให้ต้องมีการเตรียมพร้อมทั้ง คน บุคลากร การจัดสรรงบประมาณ และการปรับทัศนคติคน ธปท.เพราะเราคงไม่สามารถที่จะทำงานแบบเดิมๆที่ต้องลงรายละเอียดทุกอย่างที่ชัดเจนได้อีกแล้ว แต่จะต้องเร่งการปรับเปลี่ยนการทำงาน การดูแลความสามารถของทั้งคนและองค์กรให้ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้นตามความเหมาะสม

“การดูแลงานบริหาร มองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย และยากมากในเวลาเดียวกัน เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และเป็นการยากที่จะต้องปรับเปลี่ยนการทำงานในระบบเดิมๆ ความคิดเดิมๆ ซึ่งในช่วงต่อไปจะต้องวางระบบให้ชัดเจน เพื่อให้การเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันในทุกส่วนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับมอบงาน และยิ่งศึกษางานยิ่งรู้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากในการพัฒนาปรับทิศทางของคน ธปท.และเริ่มรู้สึกว่าสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ”

ปรับประมาณการเศรษฐกิจลงลึก “รายย่อย”

นางอลิศรากล่าวต่อถึงการส่งมอบงานในด้านเสถียรภาพการเงิน ซึ่งจุดนี้ที่ ธปท.ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดในการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ว่า ในปีนี้เครื่องชี้เศรษฐกิจต่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก และที่ผ่านมา ธปท.อาจจะมองในภาพรวมและตัวเลขมาก แต่ในปีที่ผ่านมาด้วยความเปลี่ยนแปลงทุกด้านที่รวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละภาคธุรกิจที่มีความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ ธปท.ต้องลงไปหาข้อมูลในแต่ละภาคส่วนที่เล็กลงมากขึ้น คุยกับภาคธุรกิจมากขึ้น คุยกับเอสเอ็มอีมากขึ้น เพื่อที่จะมีความเข้าใจเศรษฐกิจมากขึ้น

“ที่ผ่านมา แม้ ธปท.จะบอกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่คนส่วนใหญ่ยังบ่นกันมาว่าเศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจซบเซามาก เหตุผลก็คือ เศรษฐกิจในภาพรวมกับเศรษฐกิจในแต่ละจุดแต่ละภาคฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน การลงลึกไปในเศรษฐกิจระดับรายภาคธุรกิจ ระดับจุลภาค ระดับประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องทำมากขึ้น มากกว่าที่เราทำอยู่แล้วในขณะนี้ ซึ่งก็ได้พูดคุยอยู่แล้วในหลายภาคธุรกิจ รวมทั้ง ธปท.ยังต้องทำงานต่อเนื่องในส่วนของสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่ดีขึ้นในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ตลาดการเงิน และเงินทุนต่างประเทศ”

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า มีงานที่จะต้องสานต่อใน 3 ประเด็น คือ 1. การเชื่อมต่อระหว่างภาคเศรษฐกิจจริง และภาวะการเงินในระดับต่างๆให้ชัดเจนขึ้น โดยจะเชื่อมโยงในด้านฐานข้อมูลรายธุรกิจเพื่อให้เห็นชีพจรในแต่ละส่วนของภาคเศรษฐกิจจริง ในแต่ละภาคของธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องมีการปรับแบบจำลองที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ได้การประเมินเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงการทำนโยบายการเงินที่ตรงจุด โดยไม่ต้องพึ่งพานโยบายการเงินอันใดอันหนึ่งมากเกินไป 2.การทำนโยบายการเงินให้เป็นระดับสากลมากขึ้น และ 3.การเปิดกว้างหารือและรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปสู่เป้าหมายเดียวกัน การเชื่อมโยงภาพมหภาคไปสู่จุลภาคที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างปัญหาและจุดอ่อนในภาคการเงิน ไปยังปัญหาของเศรษฐกิจโดยรวมให้ชัดเจนขึ้นด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ