กำลังเป็นประเด็นร้อนๆ กรณี “ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์” ที่มองว่า ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงมาก ส่งผลให้คนไทย ซึ่งมีหนี้ครัวเรือนในอัตราที่สูงประสบความยากลำบาก ตรงกันข้ามกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำเตี้ยติดดิน จนทำให้คนวัยเกษียณที่พึ่งพาดอกเบี้ย ในการดำรงชีพประสบปัญหามีเงินไม่พอใช้จ่าย และส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ถ่างกันมากนี้เอง กลายเป็นกำไรมหาศาลของระบบธนาคารพาณิชย์
เพื่อให้เห็นภาพดังกล่าวที่ชัดเจนมากขึ้น วันนี้เรามาขยายภาพตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เทียบปีต่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 66 ว่า เป็นอย่างไรกันบ้าง
...แล้วว่ากันตามตัวเลขที่ปรากฏ โดยจะยึดจากตัวเลขรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหลัก เริ่มจากอัตราดอกเบี้ย เงินกู้กันก่อน โดยจะเทียบอัตราล่าสุด ในวันที่ 12 ม.ค.67 กับวันที่ 12 ม.ค.66 ที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ของเวลาผ่านมา 1 ปีเต็ม และผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 8 ครั้ง รวม 2% จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นมาอยู่อันดับสูงสุดที่ 2.5%
โดย ณ วันที่ 12 ม.ค.66 อัตราดอกเบี้ยเงินลูกค้าเบิกเกินบัญชี หรือ MOR เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 7.2067% มีอัตรา เรียกเก็บต่ำสุดที่ 6.5% และสูงสุด 8.28% ขณะที่ อัตราดอกเบี้ย MOR ณ วันที่ 12 ม.ค.67 ขึ้นมาอยู่ที่ 7.9671% หรือปรับเพิ่มขึ้น 0.7604% มีอัตราเรียกเก็บต่ำสุดอยู่ที่ 7.52% และสูงสุดที่ 9.08%
ต่อกันด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือ MLR เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 12 ม.ค.66 อยู่ที่ 6.8158% มีอัตราเรียกเก็บต่ำสุดอยู่ที่ 6.0% และสูงสุดที่ 8.6% ผ่านไป 1 ปี อัตราเฉลี่ยดอกเบี้ย MLR ณ วันที่ 12 ม.ค.67 อยู่ที่ 7.6679% เพิ่มขึ้น 0.8521% โดยมีอัตราเรียกเก็บต่ำสุดอยู่ที่ 6.5% และสูงสุดที่ 9.500%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ณ วันที่ 12 ม.ค.66 เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อยู่ที่ 7.2647% ต่ำสุดอยู่ที่ 6.25% และสูงสุด 9.2500% เทียบกับวันที่ 12 ม.ค.67 อัตราเฉลี่ยดอกเบี้ย MRR ขึ้นมาอยู่ที่ 8.05% หรือเพิ่มขึ้น 0.7853% โดยมีอัตราเรียกเก็บต่ำสุดที่ 6.75% และเก็บสูงสุดถึง 10.15%
จากตัวเลขทั้งหมดเห็นได้ว่าภายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.76-0.85% และหากพิจารณาคนที่กู้เงินแพงที่สุดก็คือ “รายย่อย” ซึ่งธนาคารพาณิชย์มองว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ที่สุดในการให้สินเชื่อ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดคือ ลูกหนี้ที่กู้ในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สินเชื่อบ้าน
แล้วหันมาดูดอกเบี้ยเงินฝากว่า 1 ปีผ่านไป เป็นอย่างไรบ้าง เริ่มที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ 12 ม.ค.66 อยู่ที่ 0.1-0.75% โดยต่ำสุด 0.1% เป็นของซิตี้แบงก์ และสูงสุด 0.25-2% ที่ธนาคารทิสโก้ เทียบกับวันที่ 12 ม.ค.67 ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งพรวด ดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยปรับขึ้นมาเพียง 0.025% เท่านั้น อยู่ที่ 0.125–2%
มาต่อกันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี (12 เดือน) เฉลี่ยของ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 12 ม.ค.66 อยู่ที่ 0.2000-1.9000% เทียบกับ 12 ม.ค.67 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2–2.65% หรือปรับขึ้น 0.75–1.00% สุดท้ายของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอายุ 2 ปี (24 เดือน) ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ฝาก ได้รับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี โดย ณ วันที่ 12 ม.ค.66 เฉลี่ย อยู่ที่ 0.2-1.6% ผ่านไป 1 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 2 ปี ขึ้นมาอยู่ที่ 1.3-2.45% เพิ่มขึ้น 0.85-1.1%
ทั้งนี้ แม้ดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับขึ้นบ้าง ในส่วนเงินฝาก 1-2 ปี แต่แทบจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากหลักของคนมีรายได้น้อย และเป็นบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ หรือประมาณ 90% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประเทศ ยิ่งเมื่อเทียบระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR กับเงินฝากประจำ 1 ปี จะเห็นส่วนต่างที่ห่างกันประมาณ 6% ซึ่งถือว่าสูงมาก
จากส่วนต่างและความลักลั่นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ ของ ธปท.ที่จะต้องดูแลดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจจริง และดูแลส่วนต่างดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ฝากเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ มาถึงอีกคำถามหนึ่งที่คาใจกันในขณะนี้ คือ กำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ ว่าสูงมากแค่ไหนและมาจากอะไร
อ้างอิงจากตัวเลข ธปท.ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาสที่ 3 ปี 66 มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 65,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลง 12.5% และหากถามต่อไปว่า กำไรมาจากส่วนไหนบ้าง พบว่า ระบบธนาคาร มีรายได้สุทธิที่มาจากดอกเบี้ย ในไตรมาสที่ 3 ทั้งสิ้น 173,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 18.3% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 5% ขณะที่มีรายได้สุทธิที่ไม่ได้มาจากดอกเบี้ย 53,000 ล้านบาท ลดลง 17.2% เทียบปีต่อปี และลดลง 22.2% เทียบไตรมาสก่อนหน้า
ส่วน 9 เดือนแรก ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิรวมกัน 181,390.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,779 ล้านบาท
จริงอยู่! ทุกการทำธุรกิจต้องหวังผลกำไร แต่หากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจกดดันมากเกินไป คนส่วนใหญ่ส่งหนี้สินที่มีอยู่ไม่ไหว ดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงเท่าไร ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำแค่ไหน ก็ไม่ทำให้ระบบธนาคารอยู่รอดได้ในภาพรวม.
ประอร นพคุณ
คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม