5 เทคนิคกู้เงิน ของพ่อค้า - แม่ค้า ไม่ได้จดทะเบียนการค้า หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ก็กู้ได้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

5 เทคนิคกู้เงิน ของพ่อค้า - แม่ค้า ไม่ได้จดทะเบียนการค้า หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ก็กู้ได้

Date Time: 21 ธ.ค. 2566 10:25 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • 5 วิธีเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อกับธนาคาร สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าตามตลาดนัด รวมทั้งกลุ่มหาบเร่ แผงลอย รถเข็น รถพุ่มพวง แม้ไม่ได้จดทะเบียนการค้าแต่ “ก็กู้ได้”

Latest


แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่อง “กู้” หากเป็นร้านที่มีการจดทะเบียนการค้าก็คงจะง่าย แสนง่าย แต่กลับกันถ้าหากเป็นเพียงแค่กลุ่ม “พ่อค้าแม่ค้า” ที่ขายสินค้าตามตลาดนัด หาบเร่ แผงลอย รถเข็น รถพุ่มพวง จะสามารถกู้ได้หรือไม่? 

ไม่มีทะเบียนการค้า อยากขอสินเชื่อ ทำได้หรือไม่?

เนื่องจากเป็นเพียงแค่ร้านค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้จดทะเบียนการค้า หรือ ทะเบียนพาณิชย์ จนกลายเป็นคำถามของหลายๆ คนว่ามีรายได้เท่านี้จะสามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้หรือไม่ โดยเฉพาะช่วงที่ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” จึงอยากจะมีทุนมาหมุนเวียน ธนาคารกสิกรไทย หรือ Kbank จึงได้ชวนทำความเข้าใจว่าถึงแม้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะมีการกำหนดไว้ว่าธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น “ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า” กำหนดไว้ 6 ประเภท1 ประกอบด้วย

  1. พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนการค้า
  2. กลุ่มที่ต้องจดทะเบียนการค้าแต่ยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนการค้าให้เรียบร้อยก็ตาม 

ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าทั้ง 2 กลุ่มนี้สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ เนื่องจากธนาคารไม่ใช้เรื่องของทะเบียนการค้าเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการให้สินเชื่อ

5 วิธีเตรียมตัว ขอสินเชื่อให้ผ่าน

ดังนั้นเมื่อพ่อค้าแม่ค้ารู้แล้วว่า “ทะเบียนการค้า” เป็นเพียงเอกสารประกอบการขอสินเชื่อประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาอนุมัติหรือปฏิเสธการให้สินเชื่อ หากต้องการขอสินเชื่อจากธนาคารควร ก็ควรที่จะมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการยื่นขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยหลักการง่ายๆ มี 5 ข้อดังนี้ 

  1. เช็กเครดิตตัวเองให้เรียบร้อยก่อนขอสินเชื่อ

    ด้วยการตรวจสอบเครดิตบูโร 2 เพื่อจะได้รู้สถานะหนี้ในปัจจุบันของตนเองว่ามีสถานะหนี้เป็นอย่างไร ผ่อนได้ตามเงื่อนไขหรือไม่ หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วหรือไม่ ซึ่งมีหลายเคสที่บางคนจำไม่ได้ว่าเคยมีการกู้เงินแทนบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเพื่อนำไปใช้จ่าย หรือบางคนเคยมีการค้ำประกันให้ใครคนอื่น แล้วถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยที่เราไม่รู้ตัว

    ซึ่งในรายงานเครดิตบูโรจะบอกสถานะหนี้อย่างละเอียด หากพบว่าตนเองเป็นหนี้ที่ผ่อนไม่ชำระไม่ตรงตามเงื่อนไขหรือกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ให้รีบแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพราะเรื่องประวัติการชำระหนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เป็นปัจจัยในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร หากมีข้อสงสัยเรื่องการอ่านรายงานเครดิตบูโร สามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคาร

  2. เก็บรวบรวมเอกสารทางการค้าไว้ทั้งหมด

    ไม่ว่าจะเป็นบิลซื้อ-บิลขาย (บิลเงินสด หรือใบกำกับภาษี, ใบออเดอร์สั่งสินค้า, สัญญาว่าจ้างต่างๆ, รวมทั้งสัญญาเช่าแผงหรือร้านค้า ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ฯลฯ) เอกสารเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นเอกสารเพื่อยืนยันความสม่ำเสมอของรายรับ-รายจ่าย และสามารถนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อได้ สำหรับบางรายที่ไม่มีเอกสารทางการค้า ก็ไม่ต้องกังวล เพราะธนาคารไม่ได้พิจารณาจากเอกสารทางการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้ในการพิจารณาอีกหลายปัจจัย

  3. จัดทำสมุดบัญชีรับจ่าย 

    เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือนมีรายได้และค่าใช้จ่ายเดือนเท่าไร มีกำไรเดือนละเท่าใด นอกจากจะนำมาใช้เป็นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อแล้ว ยังช่วยให้พ่อค้าแม่ค้ารู้ว่าในแต่ละเดือนร้านค้ามีรอยรั่วทางการเงินตรงไหนบ้าง รายรับ กับรายจ่ายสัมพันธ์กันหรือไม่ นอกจากนี้อาจจะทำให้ได้ส่วนลดจากการสั่งวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

  4. แยกบัญชีร้านค้ากับบัญชีใช้ส่วนตัวออกจากกัน (บัญชีเงินฝากธนาคาร)

    พ่อค้าแม่ค้าหลายรายมีการใช้เงินปนกันไปปนกันมา โดยหลายๆ ครั้งนำเงินที่ต้องใช้หมุนเวียนในร้านค้า (เงินที่ต้องใช้ซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้ามาขาย) ถูกนำไปใช้จ่ายส่วนตัว เพราะเห็นว่ามีเงินเหลือเยอะ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดทำให้มีปัญหาตามมาทันทีคือ ขาดเงินทุนที่ใช้หมุนเวียนหรือไม่มีเงินไปใช้ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้ามาขาย หรือที่เรียกว่า “ขาดสภาพคล่อง” ส่วนใหญ่ต้องไปหยิบยืมจากเจ้าหนี้นอกระบบ จนทำให้ต้องหลุดเข้าสู่วงจรอุบาทว์ เป็นหนี้ไม่สิ้นสุด

  5. เตรียมเอกสารหลักทรัพย์

    การขอสินเชื่อกับธนาคารสามารถนำบ้านที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขอสินเชื่อหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลในครอบครัวนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ หากใช้รถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขอสินเชื่อ ไม่สามารถนำของบุคคลในครอบครัวมาค้ำประกันได้

    ซึ่งการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะทำให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสินเชื่อที่ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่สำคัญทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น มีกำไรเหลือเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่หาเงินมาได้เพื่อเอามาจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว

    ส่วนข้อควรรู้ในการขอสินเชื่อกับธนาคารคือ ควรขอสินเชื่อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งควรมีเงินสดสำรองขั้นต่ำ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน และหากมีเงินเหลือควรนำมาโปะหนี้ ส่วนกรณีที่พ่อค้าแม่ค้ามีสินเชื่อประเภทเงินกู้ เมื่อโปะเพิ่มไปแล้ว หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินจะไม่สามารถดึงเงินกลับมาใช้ได้ทันที และรักษาเครดิตให้ดี ขณะเดียวกันเมื่อขอสินเชื่อได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือผ่อนชำระให้ตรงตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับธนาคาร หากในอนาคตจำเป็นต้องขอสินเชื่อเพิ่มเติม จะสามารถทำได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากนั่นเอง

ดังนั้นหลายคนที่กังวลว่าถ้าเราไม่มีทะเบียนการค้า ค้าขายรับเงินสด ไม่ได้เดินบัญชี ธนาคารจะยอมปล่อยกู้ไหม บอกเลยว่าไม่ต้องกังวลเพราะหากเราเปิดดำเนินการกิจการจริงมีหน้าร้านจริง ธนาคารจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่ (Checker Out) เพื่อยืนยันการดำเนินของกิจการ

รวมทั้งธนาคารจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ ประวัติการใช้วงเงินสินเชื่อที่ผ่านมามีการผ่อนชำระตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ หรือ เอกสารทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นบิลซื้อหรือบิลขาย สัญญาเช่า นอกจากนั้นยังดูจากบัญชีรายรับรายจ่าย การหมุนเวียนบัญชี และหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน จึงไม่ต้องกังวลมากนัก แต่ทางที่ดี ก่อนจะเริ่มขอสินเชื่อ ควรที่จะเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยแล้วค่อยยื่นเรื่องขอสินเชื่อกับธนาคาร เพราะการทำธุรกรรม หรือดำเนินการใดๆ ก็ตาม หากคน “ยื่นเรื่อง” พร้อม “เอกสาร” พร้อม “โอกาส” ที่จะได้รับก็ย่อมมีเปอร์เซ็นต์สูงเช่นเดียวกัน

อ้างอิง กสิกรไทย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์