ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เป้า 3 ความเสี่ยงการเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เป้า 3 ความเสี่ยงการเงิน

Date Time: 20 ต.ค. 2566 06:20 น.

Latest

ออมสินเปิดแพลตฟอร์มเงินดีดี ปล่อยกู้คนกู้แบงก์ไม่ผ่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกรายงาน การประเมินเสถียรภาพระบบการเงิน ประจำไตรมาส 3 ระบุว่า ระบบการเงินไทย โดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน (Financial stability risk) ที่ควรติดตามในระยะต่อไป ใน 3 ด้าน คือ

1.ต้องติดตามความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง โดยสถาบันการเงิน หรือเจ้าหนี้ทางการเงินจะต้องบริหารจัดการและไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงแบบก้าวกระโดด (NPL cliff) เพราะความสามารถในการชำระหนี้ลดลงในครัวเรือนเปราะบางที่รายได้น้อยหรือฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และบริษัทให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ( Non-bank) แต่คาดว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า จะช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ลดลงรุนแรงหรือขยายเป็นวงกว้าง

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเล็กน้อย ส่วนความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทรงตัว โดยภาคการผลิตปรับดีขึ้นเล็กน้อย อาทิ เช่น ภาคเคมีภัณฑ์ สวนทางกับกำไรในภาคการผลิตอื่นๆ ขณะที่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว (low season) ฝั่งเอสเอ็มอีฐานะการเงินยังเปราะบาง โดยสินเชื่อหดตัวจากการทยอยชำระคืนหนี้ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังต้องให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง

2.ธปท.ระบุว่า ต้องติดตามความเสี่ยงของภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและอาจระดมทุนได้ยากขึ้น ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่สูงขึ้นหลังการผิดนัดชำระหนี้ และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัจจุบันตลาดการเงินยังมีเสถียรภาพ การออกตราสารหนี้ใหม่โดยรวมยังคงทำได้ตามปกติ

3.ต้องติดตามความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องของบริษัท ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) บางรายที่ลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงและการตั้งค่า เผื่อหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญเพิ่มขึ้น Non-bank ส่วนใหญ่ยังมีกำไรสะสม เพียงพอรองรับความเสี่ยงได้ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงของบางรายอย่างใกล้ชิด

สำหรับการติดตามฐานะของสหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) ที่มีความน่ากังวลในช่วงที่ผ่านมา โดยรวมยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอ รองรับการดำเนินกิจการ ซึ่งต้องติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งที่อาจสะสมความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากตลาดการเงินมีความผันผวนสูง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ