ชูสาขาฮ่องกงดึงลงทุนเข้าประเทศ แบงก์กรุงเทพเปิดประตูธุรกิจไทยบุกจีนใต้ 11 เมือง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ชูสาขาฮ่องกงดึงลงทุนเข้าประเทศ แบงก์กรุงเทพเปิดประตูธุรกิจไทยบุกจีนใต้ 11 เมือง

Date Time: 26 ส.ค. 2566 06:20 น.

Summary

  • ธนาคารกรุงเทพเร่งเดินหน้านวัตกรรมการเงินข้ามประเทศ คนไทยใช้แอปพลิเคชันแบงก์กรุงเทพสแกนคิวอาร์โค้ดซื้อสินค้าในฮ่องกงได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ พร้อมต่อยอดความสำเร็จ ใช้สาขาฮ่องกงขยายฐานที่มั่นทางการเงินหนุนธุรกิจไทยบุกเขตเศรษฐกิจ GBA 11 เมืองสำคัญของจีน เป็นประตูดึงเงินนักธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีนเข้าไทย

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ธนาคารกรุงเทพเร่งเดินหน้านวัตกรรมการเงินข้ามประเทศ คนไทยใช้แอปพลิเคชันแบงก์กรุงเทพสแกนคิวอาร์โค้ดซื้อสินค้าในฮ่องกงได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ พร้อมต่อยอดความสำเร็จ ใช้สาขาฮ่องกงขยายฐานที่มั่นทางการเงินหนุนธุรกิจไทยบุกเขตเศรษฐกิจ GBA 11 เมืองสำคัญของจีน เป็นประตูดึงเงินนักธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีนเข้าไทย

นายสิทธิชัย จิวัฒน์ธนากุล Senior Vice President และผู้จัดการทั่วไป สาขาฮ่องกง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยระหว่างการเดินทางศึกษาความรู้ทางการเงินในหัวข้อ “เปิด โลกนวัตกรรม ก้าวทันเทรนด์การเงินยั่งยืน” ในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2566 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่า ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง ถือเป็นธนาคารกรุงเทพ สาขาแรกในต่างประเทศ และเป็นสาขาธนาคารเต็มรูปแบบ (Full License) แห่งเดียวของไทยในฮ่องกง ที่ทำธุรกิจได้ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ โดยปีนี้เปิดทำการมา 69 ปีแล้ว จะครบ 70 ปีในปี 2567 ซึ่งสาขาฮ่องกงเติบโตมีรายได้ดีทำกำไรต่อเนื่อง

“ฮ่องกงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก ทำให้มีธุรกิจจากทั่วโลกมาตั้งสำนักงานที่ฮ่องกง และทำธุรกิจกับธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกงเพื่อไปลงทุนในไทย ขณะเดียวกัน เรายังเป็นทั้งแหล่งทุน และที่ปรึกษาของธุรกิจไทยในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ลูกค้าส่วนใหญ่ของเรา คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการลงทุนในจีน โดยใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลาง ยกตัวอย่างธุรกิจจากประเทศไทย เช่น กลุ่มซีพี และบ้านปู บริษัทคนไทยที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออก ฯลฯ และยังมีธุรกิจจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน รวมถึงธุรกิจในฮ่องกงเองที่เริ่มต้นจากบริษัทเล็กๆ และเติบโตมาด้วยกัน จนวันนี้หลายบริษัทเป็นธุรกิจระดับนานาชาติ ยังใช้บริการกันอยู่”

กลยุทธ์รุก GBA สู่ “เกตเวย์” จีน–อาเซียน

นายสิทธิชัยกล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจฮ่องกงนั้น อยู่ในช่วงที่เพิ่งฟื้นตัวเช่นเดียวกับประทศไทย โดยเศรษฐกิจของฮ่องกงได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2562 ที่เกิดปัญหาการประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง ต่อเนื่องมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารที่เป็นรายได้หลักได้รับผลกระทบหนักมาก แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเศรษฐกิจในปี 2565 กลับมาเติบโตได้ 2.3% และคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 4-5%

“ในช่วงที่จะครบรอบ 70 ปี ธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตของสาขาฮ่องกงให้เป็นเกตเวย์ที่ช่วยเชื่อมต่อภาคธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องการเข้าสู่จีน โดยใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางควบคู่กับกลุ่มธุรกิจจากจีนที่ต้องการเปิดตลาดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย และเชื่อมต่อไปสู่ประเทศในซีแอลเอ็มวี (ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม) และรวมถึงประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยที่ผ่านมาการลงทุนจากจีน และประเทศอื่นๆไปอาเซียนจะผ่านสาขาของเราค่อนข้างมาก เพราะธนาคารกรุงเทพมีสาขาในทุกประเทศอาเซียน ยกเว้นบรูไน และเรายังประสานอย่างใกล้ชิดกับ 5 สาขาในเมืองสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้มีความพร้อมให้บริการลูกค้าธุรกิจได้อย่างครบวงจร”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาจีนตอนใต้ โดยได้จัดตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area : GBA ครอบคลุม 11 เมืองสำคัญ คือ กว่างโจว เซินเจิ้น จูไห่ ฝอซาน หุ้ยโจว ตงก่วน จงซาน เจียงเหมิน จ้าวชิ่ง ฮ่องกง และมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตมาก ยกตัวอย่าง เซินเจิ้น เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ หัวเหว่ย (Huawei) บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD บริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสาร ZTE และบริษัทไอทีที่ใหญ่ที่สุดของจีน TenCent รวมทั้งเป็นเมืองที่มีการทดลองใช้เงินสกุลดิจิทัลหยวน ขณะที่กว่างโจวเป็นเมืองยุทธศาสตร์ของมณฑลด้านอุตสาหกรรม การค้า การขนส่ง และเป็นประตูศูนย์กลางเชื่อมสู่เมืองรอง

“ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่ดีทั้งการค้าและการลงทุนของไทย โดยผ่านทางฮ่องกงที่ยังถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการเงินของเขตเศรษฐกิจนี้ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น การทำธุรกรรมการเงิน สำนักงานกฎหมาย สำนักงานบัญชี และเป็นตลาดเงินหยวนนอกประเทศ (Offshore RMB) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก นักลงทุนจึงเลือกใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางที่ใช้เชื่อมต่อกับบริษัทย่อยหรือโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน โดยผ่านธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง และในอนาคตคาดว่ามูลค่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยยังเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยี มีความทันสมัย สร้างมูลค่าเพิ่มได้”

พอร์ตลูกค้าลงทุนแน่น หนี้เสียน้อย

นายสิทธิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจจากจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย และประเทศต่างๆในอาเซียนในขณะนี้ มี 2 กลุ่มธุรกิจที่เห็นได้ชัดเจนคือ กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electronic Vehicle) ซึ่งเติบโตขึ้นประมาณ 20-30% จากปีก่อนหน้าและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยลูกค้าในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านเรา
ยกตัวอย่าง มีบริษัท BYD Co. Ltd หรือ BYD บริษัท Great Wall Motor หรือ GWM และบริษัท Hozon New Energy หรือแบรนด์ NETA เป็นต้น รวมทั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเจ้าอื่นๆด้วย

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มธุรกิจที่มีเงินทุนขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทในลักษณะ Holding Company มีการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น China Resources และ China Merchants และนอกจากลงทุนในไทย บริษัทในจีนจะมาลงทุนในอาเซียน ก็จะติดต่อผ่านทางสาขาธนาคารเช่นเดียวกัน เพราะนักลงทุนจีนจะเชื่อมั่นในธนาคารไทย และธนาคารสิงคโปร์เป็นหลัก หากจะลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง ยังเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับธุรกิจไทยทุกขนาดที่อยากจะออกมาทำธุรกิจในต่างประเทศ แม้บางครั้งเขาไม่ได้ขอสินเชื่อเรา แต่มาเปิดบัญชีเงินฝากกับเราก็มีเช่นกัน โดยมูลค่าพอร์ตสินเชื่อของสาขาฮ่องกงอยู่ที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ทางธนาคารยังให้ความสนใจกับการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยในพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของเรามีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวประมาณ 10% ขณะที่จำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับที่ต่ำมากไม่ถึง 1% ของสินเชื่อรวม

“หลายคนอาจจะกังวลกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งกำลังมีปัญหาสภาพคล่องและการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนไปอีกระยะหนึ่ง และมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนที่เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของสาขาไม่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเหล่านี้ โดยการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นแนวนโยบายของธนาคารกรุงเทพ สาขาแม่มาตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540”

สแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายง่ายๆในฮ่องกง

นายสิทธิชัยยังได้กล่าวถึงทิศทางการใช้จ่ายท่องเที่ยวในฮ่องกงด้วยว่า ฮ่องกงถือเป็นเมืองหนึ่งที่คนไทยนิยมมาท่องเที่ยว มาขอพรเทพเจ้า และหาอาหารอร่อยรับประทาน โดยการใช้จ่ายในฮ่องกงนั้น สามารถทำได้ทั้งการใช้เงินสด การใช้บัตรเครดิต และสามารถที่จะใช้จ่ายซื้อสินค้าด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านร้านค้าต่างๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในจุดนี้ธนาคารกรุงเทพกำลังพัฒนาให้แอปพลิเคชันธนาคารกรุงเทพในมือถือ สามารถเชื่อมต่อสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าของฮ่องกง ผ่านระบบ “Cross-border QR Payments” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ภายในสิ้นปี 2566

โดยการพัฒนาระบบ “Cross-border QR Payments” จะทำให้นักท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้แอปพลิเคชันธนาคารกรุงเทพในมือถือสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อใช้จ่ายในฮ่องกงได้ง่ายดาย โดยไม่ต้องพกเงินสดเหมือนการสแกนจ่ายในบ้านเรา เพียงแต่จะมีขั้นตอนของการแปลงค่าเงินเพิ่มขึ้นก่อนการกดโอนเงินเท่านั้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ