ธปท.ผ่อนเกณฑ์ลงทุนนอกเพิ่ม ชี้ “ค่าเงินบาท” ผันผวนต่อโลกชะลอ-การเมืองไม่ชัด

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท.ผ่อนเกณฑ์ลงทุนนอกเพิ่ม ชี้ “ค่าเงินบาท” ผันผวนต่อโลกชะลอ-การเมืองไม่ชัด

Date Time: 28 มิ.ย. 2566 07:55 น.

Summary

  • ธปท.มองค่าบาทยังผันผวนต่อ โดยเฉพาะจากปัจจัยนอกประเทศ และการเมืองไทยปั่นป่วน แนะผู้ประกอบการตั้งรับให้ดี ป้องกันความเสี่ยงเพิ่ม เร่งใช้เงินสกุลท้องถิ่นเตรียมผ่อนคลายเกณฑ์เคลื่อนย้ายเงินทุน ให้คนไทยส่งเงินไปทำธุรกิจต่างประเทศเพิ่มขึ้น

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

ธปท.มองค่าบาทยังผันผวนต่อ โดยเฉพาะจากปัจจัยนอกประเทศ และการเมืองไทยปั่นป่วน แนะผู้ประกอบการตั้งรับให้ดี ป้องกันความเสี่ยงเพิ่ม เร่งใช้เงินสกุลท้องถิ่นเตรียมผ่อนคลายเกณฑ์เคลื่อนย้ายเงินทุน ให้คนไทยส่งเงินไปทำธุรกิจต่างประเทศเพิ่มขึ้น รายย่อยลงทุนเองได้เต็ม 10 ล้านเหรียญฯ

น.ส.อลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทในระยะต่อไปว่า ยังคงมีความผันผวนสูง แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังไม่เห็นการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติ โดยในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนสูงและไม่สามารถที่จะคาดเดาเหตุการณ์ได้ ธปท.ขอให้ผู้ประกอบการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่ไม่สามารถบังคับได้ ซึ่งมีน้ำหนัก 60-70% ขณะที่ในส่วนของ ธปท.มีกลไกพร้อมที่จะเข้าไปดูแลค่าเงิน หากความผันผวนที่เกิดขึ้นสูงมาก และกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ทยอยปรับโครงสร้างผ่อนคลายกฎเกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้อง และช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทในอนาคต

น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยอ่อนค่าลงประมาณ 1.6% แต่ในไตรมาสแรกความผันผวนค่อนข้างมาก โดยแข็งค่าขึ้นไปที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะกลับลงมาประมาณ 34.35 บาท ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงต่อไปยังคงผันผวน

โดยมีปัจจัย 4 ประการหลัก คือ 1.ความผันผวนของแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินโลก โดยเฉพาะวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะในช่วงหลังค่าเงินบาทและค่าเงินหยวนของจีนไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ปัจจัยที่ 2 ที่กระทบเงินบาทมาก คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ทำให้บาทอ่อนค่า และอาจจะมีผลไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะเห็นภาพการเมืองที่ชัดเจนขึ้น

“ขณะที่อีก 2 ประเด็นที่เล็กกว่า คือ ผลกระทบจากการซื้อขายทองคำที่อาจจะมีการซื้อขายจำนวนมากพร้อมๆกัน และอีกประเด็น คือ ผลการจากลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนพันธบัตรระยะยาวสุทธิของต่างประเทศจากต้นปีถึงล่าสุด ยังเป็นการไหลเข้าของเงินต่างประเทศ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่พันธบัตรระยะสั้นเป็นขายสุทธิ 2,000 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ตลาดหุ้นเป็นเงินไหลออกสุทธิ 3,000 ล้านเหรียญฯ”

ด้าน น.ส.ชนานันท์ สุภาดุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. กล่าวว่า ในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) ธปท.ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี โอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น ซึ่งได้ผลที่ดี และในปี 2566 ธปท. มีแผนงานที่ทำเพิ่มเติม โดยสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ในการค้าขายระหว่างประเทศเพิ่มเติม เพราะในขณะนี้ 80% ยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการซื้อขาย ขณะที่เริ่มมีการใช้เงินเยน ญี่ปุ่น ในการซื้อขายโดยตรงระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งเงินสกุลท้องถิ่นที่ ธปท.ต้องการส่งเสริมคือ หยวน เยน มาเลเซีย ริงกิต และอินโดนีเซียรูเปีย โดย ธปท. จะเร่งร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาคผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม

นอกจากนั้น ยังมีส่วนของผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศให้คล่องตัวขึ้น 1. ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจากบริษัทไทยส่งไปยังต่างประเทศจาก 50,000 เหรียญฯ เป็น 200,000 เหรียญฯ 2.อนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่อง (Notional Pooling) และ 3.ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไม่ผ่านตัวแทนจาก 5 ล้านเหรียญ เป็น 10 ล้านเหรียญฯ

ขณะที่เพิ่มความคล่องตัวต่างชาติ ได้แก่ 1. ขยายขอบเขตโครงการ Non-Resident Qualified Company (NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการได้ 2.ให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหลักทรัพย์ไทยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินไทยได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องทำผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศ ซึ่งการผ่อนคลายจะช่วยให้ภาคเอกชนทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง มีภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ