รู้จัก "สินเชื่อสวัสดิการ" หนึ่งตัวช่วยลดดอกเบี้ย กู้ฉุกเฉินไม่พึ่งเงินนอกระบบ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก "สินเชื่อสวัสดิการ" หนึ่งตัวช่วยลดดอกเบี้ย กู้ฉุกเฉินไม่พึ่งเงินนอกระบบ

Date Time: 19 เม.ย. 2566 09:04 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • สินเชื่อสวัสดิการ ถือว่าเป็นประโยชน์ที่จะช่วยพนักงาน และไม่ใช่ให้คนก่อหนี้โดยไม่จำเป็น แต่เราอยากให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และถูกกฎหมาย

Latest


ตั้งแต่ปี 65 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หนี้ครัวเรือน กลายเป็นความกังวลของหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล กระทรวงการคลังเองก็ดี รวมไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่พยายามหามาตรการดูแลหนี้สินภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ออกมานั้นยังต้องติดตามต่อว่าจะช่วยลดหนี้สินภาคครัวเรือนได้หรือไม่

เนื่องจากภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาให้เห็น แต่ภาคการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยลบเข้ามาให้ทดสอบไม่ว่าจะเป็นวิกฤติภาคการเงิน และภาวะสงคราม

สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปีนี้นั้น "กานต์ พูลเกษร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาโอ เลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DAOL LEND กล่าวว่า เราต้องแยกก่อนว่าสินเชื่อกี่ประเภท เช่น สินเชื่อแบบมีหลักประกัน สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ไม่มีหลักประกันก็เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เราจะพบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเทียบกับจีดีพีในปี 65 อยู่ที่ 80% ซึ่งเป็นผลพวงจากโควิดที่ทำให้ธุรกิจชะลอตัว เทรนด์นี้เราก็เห็นว่าทั่วโลกก็มีปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งนโยบายต่างๆ ของแบงก์ชาติที่ออกมาในขณะนี้ส่วนใหญ่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ

"ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการขาดสภาพคล่องของประชาชน แต่ 3 ปีที่มีโควิดจะเห็นได้ว่าเป็นหนี้จากการใช้จ่าย เพราะขาดรายได้ หรือรายได้จากช่วงโควิด การก่อหนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ในช่วงปี 65 ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถ เติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น หลายธุรกิจเริ่มให้บริการ กำลังซื้อจะกลับมา ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การก่อหนี้จึงเปลี่ยนจากเดิมหนี้กู้เพื่อใช้จ่าย เป็นกู้มาเพื่อซื้อสินทรัพย์ต่างๆ"

อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะกู้มาใช้อย่างเดียว เราน่าจะเคยได้ยินคำว่า กักดับหนี้ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงมากในครึ่งปีหลัง ปี 66 เป็นต้นไป โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งเราต้องดูไส้ในก่อนว่าเป็นอะไรบ้าง เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ Buy Now Pay Later สินเชื่อประเภทใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งเราพบว่าในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ใช้บริการนี้ค่อนข้างมาก ใช้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งดอกเบี้ยสูงมาก จุดนี้ถือเป็นความน่ากังวล หากดอกเบี้ยสูงเกินไป อาจทำให้ความสามารถในการผ่อนน้อยลง

"ถ้าหากเกิดปัญหาการจ่ายไม่ไหว นโยบายรัฐต้องดีระดับหนึ่งเลย เพราะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเข้ามาช่วยด้วย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เข้ามาแก้หนี้เสีย รวมถึงคนที่มีปัญหาเกือบจะกลายเป็นหนี้เสียนี่ต้องรีไฟแนนซ์หนี้ทั้งหมด ให้เป็นดอกเบี้ยต่ำกว่า เพราะไม่มีลูกหนี้คนไหนอยากปล่อยให้เป็นหนี้เสีย"

ส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกันนั้น ไม่ว่าจะเป็น กู้ซื้อบ้าน คอนโดฯ แบบหลังที่สอง หรือเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องมั่นใจความสามารถในการผ่อน เพราะดอกเบี้ยอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น การปล่อยสินเชื่อก็ต้องมีความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น จึงทำให้หนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้มีคุณภาพมากขึ้น 

กานต์ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วภาคเอกชน และสถาบันการเงินเองก็มี นโยบายในเรื่องนี้เหมือนกัน เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างเข้าใจ และรัดกุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงจัดหาสินเชื่อที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละคนให้ตรงจุด ทั้งนี้ สินเชื่อสวัสดิการ ก็เป็นอีกสินเชื่อหนึ่งสำหรับพนักงานที่บริษัทจัดหามาให้

โดยหลักการแล้ว สินเชื่อสวัสดิการเป็นสินเชื่อที่ผู้บริหาร หรือกรรมการบริษัทมองแล้วว่าเป็นสินเชื่อที่เหมาะกับพนักงาน ดอกเบี้ยต่ำ เข้าถึงง่าย กู้ผ่านง่าย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าภาคเอกชน ห้างร้านต่างๆ สามารถหาสวัสดิการเหล่านี้ให้กับพนักงานได้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือพนักงาน

ในส่วนของดาโอเอง เรามีภารกิจในการทำธุรกิจ สินเชื่อสวัสดิการ เรามีมิชชั่นในการทำธุรกิจ อยากช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยังเข้าถึงบริการของแบงก์ไม่ได้ เราเป็นสถาบันการเงิน มีธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บล. ซึ่งนอกจากจะปล่อยสินเชื่อแล้ว สิ่งที่ทำควบคู่ไปด้วยคือการปลูกฝังเรื่องการเงิน

อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจปัญหาของ HR บริษัทอาจจะลำบาก เพราะต้องมีการระบบเข้าไปจัดการเรื่องการตัดเงินเดือนของพนักงาน แม้แต่เงินทุนที่จะมาปล่อยกู้พนักงานเอง บางบริษัทอาจจะไม่ได้ทำแบบนั้น ขณะเดียวกันระบบ HR ก็มองระบบสินเชื่อต่างกันเพราะแต่ละเดือนต้องมีการคำนวณเรื่องการเงินคืนเงินเงินต้นเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร ถ้ามีการคืนเงินช้าจะต้องคิดดอกเบี้ยเท่าไร ซึ่งเรามีระบบหลังบ้าน หรือ Loan Management พอคำนวณเสร็จก็จะเข้าไปถึงระบบจ่ายเงินเดือนของ HR

ทั้งนี้ เราจึงพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการทำงานของ HR เช่น บริษัท A มีพนักงาน 100 คน แต่ละคนกู้เงินไม่เท่ากัน พอถึงสิ้นเดือน Loan Management ของเราก็จะส่งข้อมูลไปที่ Payroll หรือโปรแกรมคิดเงินเดือน เพื่อคำนวณให้ว่า พนักงานรหัสนี้ต้องหักเงินเดือนเท่าไร เงินต้นเท่าไร และดอกเบี้ยเท่าไร ส่วนระบบหน้าบ้านของเราเป็น Mobile Application ให้กับลูกค้าสินเชื่อ เรียกได้ว่าสะดวกสบายพอสมควร

"สินเชื่อสวัสดิการ ถือว่าเป็นประโยชน์ที่จะช่วยพนักงาน ซึ่งไม่ใช่ให้คนก่อหนี้โดยไม่จำเป็น แต่เราอยากให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และถูกกฎหมาย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความเข้าใจในเรื่องการก่อหนี้ การวางแผนทางการเงิน เรามีแผนที่จะให้ความรู้เรื่องการใช้เงิน และวางแผนการเงิน การลงทุนต่างๆ ปีนี้เราจะเติมความรู้ เรื่องการลงทุนให้" 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ